ลิ้งค์เชื่อมต่อ

รายงานชี้ ผู้สื่อข่าวทั่วโลกถูกคุมขังมากที่สุดเป็นสถิติใหม่ในปีนี้


FILE - Supporters hold up placards of jailed Belarusian journalists and bloggers Raman Pratasevich and Ihar Losik, calling for their release, at a rally in Warsaw, Poland, June 3, 2021.
FILE - Supporters hold up placards of jailed Belarusian journalists and bloggers Raman Pratasevich and Ihar Losik, calling for their release, at a rally in Warsaw, Poland, June 3, 2021.

รายงานประจำปีซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมการเพื่อการปกป้องผู้สื่อข่าว (Committee to Protect Journalists - CPJ) เปิดเผยว่า ปี ค.ศ. 2021 เป็นปีที่มีผู้สื่อข่าวทั่วโลกถูกจับกุมคุมขังมากที่สุดเป็นสถิติใหม่

CPJ ระบุว่า จนถึงวันที่ 1 ธันวาคม มีผู้สื่อข่าวถูกคุมขังแล้ว 293 คนใน 37 ประเทศ เพิ่มจากจำนวน 280 คนเมื่อปีที่แล้ว โดยที่จีนเป็นประเทศที่มีการคุมขังนักข่าวมากที่สุดที่จำนวน 50 คน รองลงมาคือ เมียนมา อียิปต์ เวียดนาม และเบลารุส

ยิปซี กิลเลน ไกเซอร์ ที่ปรึกษาและผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารของ CPJ กล่าวกับวีโอเอว่า ประเทศที่มีนักข่าวถูกจับกุมคุมขังจำนวนมากนั้น ต่างมีลักษณะบางอย่างคล้ายกัน เช่น มีความถดถอยของระบอบประชาธิปไตยและเสรีภาพในด้านต่าง ๆ ไม่เฉพาะแต่เสรีภาพสื่อเท่านั้น โดยรัฐบาลอำนาจนิยมในประเทศเหล่านั้นพยายามกล่าวหาผู้สื่อข่าวว่าเป็นพวกโกหกหลอกลวงและกระทำผิดกฎหมาย

ไกเซอร์ยังกล่าวด้วยว่า รัฐบาลอำนาจนิยมในหลายประเทศได้พยายามผ่านกฎหมายใหม่ที่สามารถควบคุมและเอาผิดผู้สื่อข่าวได้ เช่น มาตรการ 505A ของเมียนมา ที่ระบุว่าห้ามก่อความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน

รายงานของ CPJ เผยแพร่ออกมาก่อนการประชุมสุดยอดประชาธิปไตยที่ทำเนียบขาวเป็นเจ้าภาพ ซึ่งมีผู้แทนจากมากกว่า 100 ประเทศเข้าร่วมประชุมผ่านวิดีโอออนไลน์ในวันพฤหัสบดีนี้

อย่างไรก็ตาม 7 ประเทศที่ทำเนียบขาวเชิญให้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ด้วยนั้นยังคงมีการคุมขังผู้สื่อข่าวอย่างน้อยหนึ่งคน ได้แก่ บราซิล อินเดีย อิรัก อิสราเอล ไนจีเรีย ฟิลิปปินส์ และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ซึ่ง CPJ ชี้ว่าเป็นความย้อนแย้งกันในการประชุมครั้งนี้ที่ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่าเสรีภาพของสื่อเป็นวาระสำคัญอย่างหนึ่งในการหารือกันด้วย

การเปลี่ยนแปลงสำคัญในรายงานปีนี้

ปีนี้ถือเป็นปีแรกที่มีนักข่าวฮ่องกงอยู่ในรายชื่อผู้สื่อข่าวที่ถูกคุมขัง สืบเนื่องจากกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ของรัฐบาลกรุงปักกิ่ง ที่ทำให้มีนักข่าวฮ่องกงถูกจับกุม 8 คน รวมทั้ง จิมมี ไล ผู้ก่อตั้้งหนังสือพิมพ์ Apple Daily และสื่อ Next Digital ซึ่งเป็นผู้ได้รับรางวัล Gwen Ifill Press Freedom Award ของ CPJ ประจำปีนี้ด้วย

สำหรับเมียนมา CPJ ระบุว่ามีจำนวนผู้สื่อข่าวที่ถูกคุมขังเพิ่มขึ้นจาก 1 คนเมื่อปีที่แล้วเป็น 26 คนในปีนี้ หลังเหตุการณ์รัฐประหารโดยกองทัพเมียนมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ โดย CPJ เชื่อว่าตัวเลขที่แท้จริงอาจสูงกว่านี้มาก หากรวมบรรดานักข่าวอิสระที่ถูกรัฐบาลทหารเมียนมาควบคุมตัวไปด้วย

และหนึ่งในเหตุการณ์ที่รัฐบาลกระทำต่อผู้สื่อข่าวอย่างร้ายแรงที่สุดในปีนี้ คือเหตุการณ์ที่ประธานาธิบดีของเบลารุสสั่งให้เครื่องบินไอพ่นของกองทัพเบลารุสบินประกบเที่ยวบินของสายการบินไรอันแอร์ ที่บินระหว่างกรุงเอเธนส์และกรุงวิลนีอุส เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อบังคับให้เที่ยวบินนั้นลงจอดที่กรุงมินสก์แทน ก่อนที่จะดำเนินการจับกุม รามัน ปราตาเซียวิช ผู้สื่อข่าวฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล พร้อมแฟนสาว ที่อยู่บนเครื่องบินโดยสารลำดังกล่าว

โดยในปีนี้ รัฐบาลเบลารุสจับกุมผู้สื่อข่าวเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจากปีที่แล้ว คือจาก 10 คนเป็น 19 คน

เสรีภาพสื่อในอเมริกาเหนือ?

แม้รายงานของ CPJ ฉบับนี้มิได้ระบุถึงผู้สื่อข่าวที่ถูกคุมขังในสหรัฐฯ แคนาดา และเม็กซิโก แต่ข้อมูลของ U.S. Press Freedom Tracker ของมูลนิธิเสรีภาพสื่อ Freedom of the Press Foundation พบว่า มีนักข่าว 57 คนถูกจับกุมในอเมริกาในปีนี้ ลดลงจากจำนวน 142 คนเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการจับกุมระหว่างการประท้วงของประชาชน

นอกจากนี้ U.S. Press Freedom Tracker ระบุด้วยว่า มีการทำร้ายผู้สื่อข่าวในสหรัฐฯ ทั้งหมด 141 ครั้งในปีนี้ด้วย

XS
SM
MD
LG