รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน เตรียมเดินทางเยือนหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย เพื่อเดินหน้าตามยุทธศาสตร์ 'กรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก' ของรัฐบาลสหรัฐฯ
รมต.บลิงเคน มีกำหนดการเดินทางเยือนอังกฤษในวันที่ 9 ธันวาคม เพื่อร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีของประเทศสมาชิกกลุ่ม G-7 ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังอินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศไทย จบลงด้วยการเยือนรัฐฮาวายในวันที่ 17 ธันวาคม ตามแถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในวันพุธ
ในการประชุมระดับรัฐมนตรีของกลุ่ม G-7 ที่เมืองลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ ในวันพฤหัสบดีนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของสมาคมอาเซียนได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมด้วยเป็นครั้งแรก ซึ่งรัฐมนตรีบลิงเคนจะพบหารือกับรัฐมนตรีของอาเซียนเป็นรายประเทศ ก่อนที่จะเดินทางเยือนสามประเทศในอาเซียนต่อไปในสัปดาห์หน้า
วาระสำคัญเยือนอินโดฯ มาเลเซีย ไทย
ที่กรุงจาการ์ตา รมต.บลิงเคนจะกล่าวปราศรัยถึงความสำคัญของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และเน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือภายใต้ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกด้วย
ส่วนที่มาเลเซียและไทย รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ จะพยายามกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับทั้งสองประเทศนี้ ซึ่งรวมถึงการหาทางรับมือความท้าทายต่าง ๆ ร่วมกัน เช่น การระบาดของโควิด-19 ปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลก วิกฤติภาวะโลกร้อน และการสนับสนุนเสรีภาพในด้านต่าง ๆ ของภูมิภาคนี้
นายธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของไทย ทวีตข้อความว่า รมต. บลิงเคนจะเดินทางเยือนไทยระหว่างวันที่ 15-16 ธันวาคม โดยมีกำหนดหารือกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พบปะกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงมีกำหนดรับประทานอาหารกับภาคเอกชนของไทย
นายธานียังระบุด้วยว่า การเดินทางเยือนของ รมต. บลิงเคน จะเป็น "โอกาสในการพัฒนาพันธมิตรระหว่างไทย-สหรัฐฯ พัฒนาหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ และพัฒนาความร่วมมือในด้านที่ทั้งสองประเทศมีประโยชน์ร่วมกัน"
กระทรวงการต่างประเทสสหรัฐฯ ระบุว่า รมต.บลิงเคนจะหารือถึงวิกฤติการณ์ในเมียนมากับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของมาเลเซียและไทยด้วย
กรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก 2022
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ประกาศเริ่มโครงการยุทธศาสตร์ใหม่ "กรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก" ในต้นปีหน้า ซึ่งจะรวมถึงการขยายความเป็นพันธมิตรกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ทั้งในส่วนของเทคโนโลยี ห่วงโซ่อุปทานสินค้า พลังงาน และเศรษฐกิจดิจิทัล
นายโฮเซ่ เฟอร์นานเดซ รองรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายการเติบโตทางเศรษฐกิจ พลังงานและสิ่งแวดล้อม กล่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก คือส่วนสำคัญของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพราะไม่ใช่แค่ภูมิภาคนี้มีประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลกและมีสัดส่วนของจีดีพีราว 60% ของจีดีพีโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นตลาดใหญ่ที่สุด 7 แห่งใน 15 แห่งสำหรับสินค้าส่งออกจากสหรัฐฯ ขณะที่มูลค่าการซื้อขายสินค้าระหว่างอเมริกากับอินโด-แปซิฟิก อยู่ที่ระดับมากกว่า 1.75 ล้านล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม มีความกังวลว่าสหรัฐฯ อาจกำลังถูกจีนทิ้งห่างในด้านการสร้างความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจในอาเซียน
ซูซานนาห์ แพตตัน นักวิชาการด้านนโยบายต่างประเทศที่ United States Studies Center ในนครซิดนีย์ ให้ความเห็นต่อวีโอเอว่า ในขณะที่ประเทศในอาเซียนต้องการแรงสนับสนุนทางเศรษฐกิจมากขึ้นจากรัฐบาลสหรัฐฯ แต่โครงการ "กรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก" นี้อาจยังไม่ตอบโจทย์ในสิ่งที่อาเซียนคาดหวังไว้
นักวิชาการผู้นี้ชี้ว่า หลังจากที่เกิดข้อตกลง RCEP ขึ้นมา ทำให้เวลานี้มีข้อตกลงการค้าฉบับใหญ่สองฉบับในเอเชีย คือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) และ CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) ซึ่งสหรัฐฯ มิได้ร่วมอยู่ในทั้งสองฉบับนี้
และการที่จีนได้สมัครเข้าร่วมใน CPTPP ที่สหรัฐฯ เป็นผู้จัดทำขึ้นเพื่อสร้างสัมพันธ์กับทางเอเชียก่อนที่จะถอนตัวออกไปในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ ก็ยิ่งเน้นย้ำถึงการขาดหายไปของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ผลกระทบต่อ SEANWFZ และ AUKUS
กำหนดการเยือนอาเซียนของ รมต.บลิงเคน มีขึ้นในโอกาสครบรอบ 30 ปีการเจรจาอาเซียน-จีน (ASEAN-China dialogue) ซึ่งทางอาเซียนและจีนมีแถลงการณ์ร่วมกัน ประกาศความเป็น "พันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์แบบครอบคลุม" หรือ comprehensive strategic partnership ทั้งทางด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม
นอกจากนี้ยังจะร่วมกันทำให้ภูมิภาคอาเซียน "ปลอดอาวุธนิวเคลียร์และอาวุธอำนาจทำลายล้างสูงอื่น ๆ" ภายใต้ยุทธศาสตร์ Southeast Asia Nuclear Weapons Free Zone (SEANWFZ) อีกด้วย
เกรกอรี โพลลิง ผู้อำนวยการโครงการ Asia Maritime Transparency Initiative แห่ง Center for Strategic and International Studies (CSIS) ในกรุงวอชิงตัน กล่าวว่า SEANWFZ คือการตอบโต้ต่อข้อตกลงความร่วมมือไตรภาคีด้านการทหารระหว่าง ออสเตรเลีย อังกฤษ และสหรัฐฯ หรือ AUKUS ซึ่งมีเป้าหมายต้านทานอำนาจจีนในภูมิภาคนี้
นักวิชาการผู้นี้ชี้ว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนต่างมีความเห็นที่แตกต่างกันเรื่องการสนับสนุนกลุ่ม AUKUS เช่นเดียวกับความแตกต่างเรื่องการคัดค้านการขยายอิทธิพลของจีนในทะเลจีนใต้ รวมทั้งการทดสอบอาวุธความเร็วเหนือเสียงของจีนในแถบน่านน้ำดังกล่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ด้วย