ในระหว่างที่ทั่วโลกตั้งการ์ดรับมือกับการระบาดของโควิดกลายพันธุ์ ‘โอมิครอน’ ที่พบระบาดในหลายสิบประเทศทั่วโลกขณะนี้ การศึกษาชิ้นใหม่ ระบุว่า โควิดกลายพันธุ์โอมิครอน อาจมีความรุนแรงน้อยกว่าโควิดกลายพันธุ์ชนิดอื่นๆ
สื่อเดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส อ้างรายงานการศึกษาเบื้องต้นจาก Steve Biko Academic and Tshwane District Hospital Complex ของแอฟริกาใต้ ที่เก็บข้อมูลเบื้องต้นจากผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลจากโควิด-19 พบว่า ผู้ป่วย 29 ราย สามารถหายใจได้ปกติ ขณะที่ผู้ป่วย 4 ราย จาก 13 รายต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และการพึ่งพาเครื่องช่วยหายใจนี้ไม่ได้มีปัจจัยมาจากโควิด-19 แต่อย่างใด
นพ.ฟารีด อับดุลลาห์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัย HIV/AIDS and Tuberculosis Research แห่งสภาวิจัยทางการแพทย์แห่งแอฟริกาใต้ เปิดเผยกับสื่อเดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส ด้วยว่า ผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 166 รายที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ช่วงวันที่ 14 พฤศจิกายน ถึง 29 พฤศจิกายน ใช้เวลารักษาตัวที่โรงพยาบาลเฉลี่ย 2.8 วัน และมีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่า 7% ขณะที่ผู้ป่วยโควิดในระยะ 18 เดือนที่ผ่านมา ใช้เวลารักษาตัวในโรงพยาบาลเฉลี่ย 8.5 วัน และอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 17%
ในรายงานการวิจัยดังกล่าว ยังพบว่า 80% ของผู้ป่วย 166 รายที่เก็บข้อมูลนี้ มีอายุต่ำกว่า 50 ปี ซึ่งแตกต่างจากการระบาดของโควิด-19 ครั้งก่อนๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ โดยทีมวิจัยมองว่าน่าจะเป็นผลมาจากอัตราการฉีดวัคซีนที่สูงในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปในแอฟริกาใต้
อย่างไรก็ตาม นพ.อับดุลลาห์ ระบุว่า การศึกษานี้ยังไม่สามารถระบุแน่ชัดว่าผู้ป่วยในการศึกษานี้ติดเชื้อโควิดกลายพันธุ์โอมิครอนเป็นสัดส่วนเท่าใด
สำหรับสถานการณ์ในแอฟริกาใต้ สถาบันโรคติดเชื้อแห่งแอฟริกาใต้ ระบุว่า พบผู้ติดเชื้อใหม่ทะลุ 16,000 คน เพิ่มขึ้นจาก 2,300 คนเมื่อสัปดาห์ก่อน ขณะที่เอียน ซานเน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ หนึ่งในทีมที่ปรึกษาด้านโควิดของประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ แนะให้โรงพยาบาลทั่วประเทศเตรียมรับมือกับผู้ป่วยโควิดที่จะเพิ่มขึ้นในอีกช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่จะมาถึง