ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน และนายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนธรา โมดี ยืนยันความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างสองประเทศ ระหว่างการประชุมสุดยอดกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ในวันจันทร์ ซึ่งมีเป้าหมายกระชับความสัมพันธ์ของสองประเทศที่ชะงักงันไปในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ประธานาธิบดีปูติน กล่าวในวันจันทร์ว่า "อินเดียคือประเทศมหาอำนาจที่เป็นมิตร และเป็นเพื่อนที่ผ่านบททดสอบของกาลเวลา" ในขณะที่นายกรัฐมนตรีโมดี กล่าวว่า แม้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์การเมืองโลกในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา "แต่ความเป็นมิตรระหว่างอินเดียกับรัสเซียยังมั่นคงแน่นอน"
ความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างสองประเทศนี้เริ่มพัฒนาขึ้นในยุคสงครามเย็น เมื่ออินเดียพยายามเสริมกำลังทางทหารของตน ในขณะที่รัสเซียคือผู้ขายอาวุธรายใหญ่ที่สุดให้แก่อินเดีย
การจัดทำข้อตกลงทางทหารคือส่วนสำคัญของการประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำรัสเซียและอินเดียในช่วงสองวัน คือวันจันทร์และวันอังคาร โดยรัฐบาลอินเดียได้ลงนามซื้อปืนไรเฟิล AK-203 จำนวน 600,000 กระบอกจากรัสเซีย รวมทั้งข้อตกลงขยายความร่วมมือด้านเทคโนโลยีทางการทหารระหว่างกันในช่วงสิบปีข้างหน้า
ทั้งนี้ มีรายงานว่าในการประชุมในวันจันทร์ รัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีกลาโหมของรัสเซียและอินเดียได้ร่วมลงนามในข้อตกลงการค้าและการลงทุนระหว่างกันรวม 28 ฉบับ ซึ่งครอบคลุมในด้านการทหาร พลังงานและการก่อสร้างเรือด้วย
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่อินเดียเปิดเผยว่า รัสเซียได้เริ่มการส่งมอบระบบป้องกันขีปนาวุธ S-400 ของรัสเซียให้แก่อินเดียแล้ว ตามข้อตกลงซื้อขายอาวุธที่จัดทำขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อน แม้ว่าสหรัฐฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ของอินเดีย เตือนไว้ว่า การที่อินเดียซื้อระบบป้องกันขีปนาวุธดังกล่าวจากรัสเซียถือเป็นการขัดกับโยบายของสหรัฐฯ และอาจนำไปสู่การใช้มาตรการลงโทษของสหรัฐฯ ต่อประเทศที่ซื้อระบบ S-400 นั้น
ทางอินเดียได้แจ้งกับรัฐบาลอเมริกันว่า อินเดียจำเป็นต้องซื้อระบบป้องกันขีปนาวุธจากรัสเซียเพื่อเสริมศักยภาพทางทหารของอินเดียภายใต้การคุกคามจากจีนบริเวณพรมแดนด้านทิศเหนือของประเทศ พร้อมทั้งขอให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ช่วยยกเว้นการใช้มาตรการลงโทษดังกล่าว
ประเด็นความมั่นคงในอัฟกานิสถานภายใต้การปกครองของตาลิบันเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ผู้นำรัสเซียและอินเดียหยิบยกขึ้นมาหารือในการประชุมครั้งนี้ โดยประธานาธิบดีปูติน กล่าวว่า การต่อสู้กับกลุ่มการก่อการร้าย ขบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติ และองค์กรอาชญากรรมต่าง ๆ คือความท้าทายสำคัญที่ทั้งสองประเทศกำลังเผชิญ
ทางด้านอินเดียหวังว่า การกระชับสัมพันธ์กับอินเดียจะช่วยให้อินเดียสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในอัฟกานิสถานได้มากขึ้น ในขณะที่ปากีสถานและจีนกำลังมีบทบาทมากขึ้นในอัฟกานิสถาน
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ชี้ว่า ความแตกต่างสำคัญที่ถือเป็นบททดสอบความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับอินเดีย คือ การที่อินเดียเข้าร่วมในกลุ่มพันธมิตรจตุภาคี หรือ Quad ซึ่งประกอบด้วย สหรัฐฯ อินเดีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ในขณะที่รัสเซียต่อต้านการรวมกลุ่มดังกล่าวโดยอ้างเหตุผลด้านความรักษาความมั่นคงในภูมิภาค
ขณะเดียวกัน รัสเซียเองก็มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน ซึ่งอินเดียถือว่าเป็นคู่แข่งสำคัญในภูมิภาคเอเชียเช่นกัน