ความขัดแย้งรอบล่าสุดระหว่างฟิลิปปินส์และจีนปะทุขึ้นเมื่อต้นเดือนสิงหาคมหลังจากที่กองทัพของรัฐบาลกรุงมะนิลากล่าวหาเรือตรวจการณ์ชายฝั่งจีนว่าเข้าสกัดและยิงนำ้ใส่เรือส่งเสบียงฟิลิปปินส์ที่พยายามเข้าไปยังพื้นที่พิพาททางดินเเดน
ในกรณีดังกล่าว ฟิลิปปินส์นำเรือรบสมัยสงครามโลกครั้งที่สองที่มีชื่อว่า เซียร์รา แมเดรไปจอดบริเวณสันดอน เซคอนด์ โธมัส โชล์ (Second Thomas Shoal) ในทะเลจีนใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ความพิพาททางดินเเดนกับจีน
ทางการฟิลิปปินส์กล่าวว่าการกระทำของจีนรุนเเรงเกินไป ขณะที่จีนยืนยันว่าฝ่ายตน "ใช้ความอดทนอดกลั้นอย่างมีเหตุผล"
จัสติน บาควิซัลนักวิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศที่กรุงมะนิลากล่าวกับวีโอเอว่า "สิ่งที่จีนทำมีผลให้ฟิลิปปินส์อยู่ในสถานะที่ไม่สามารถลดเเรงตึงเครียดได้โดยไม่เสียหน้า ดังนั้นฟิลิปปินส์กำลังดำเนินการโดยออกแบบมาเพื่อส่งภาพลักษณ์ความเเข็งเเกร่งของตน"
ขณะที่ทางการปักกิ่งเรียกร้องให้ฟิลิปปินส์นำเรือเซียร์ราแมเดรออกไปจากพื้นที่ดังกล่าว แต่ฝ่ายกรุงมะนิลาตั้งมั่นว่าจะขัดขืนถ้าจีนใช้กำลังผลักไสเรือออกจากแนวปะการังนี้ ซึ่งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษของฟิลิปปินส์และกองทัพฝ่ายตนส่งทหารไปประจำการแบบหมุนเวียนเป็นปกติ
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าจีนใช้วิธีสกัดการส่งเสบียงและสิ่งของต่าง ๆ ไปยังเรือรบเซียร์รา แมเดร ซึ่งหากทำเช่นนี้ต่อไป ฟิลิปปินส์น่าจะต้องถอยก่อนในที่สุด
เรือรบลำนี้อยู่ในสภาพที่ทรุดโทรม และเรย์ พาเวลล์ หัวหน้าโครงการ Project Myoushu ที่มหาวิทยาลัยสเเตนฟอร์ดบอกกับวีโอเอว่าหากฟิลิปปินส์ไม่เปลี่ยนยุทธศาสตร์ จีนจะสามารถเข้าควบคุมสันดอน เซคอนด์ โธมัส โชล์ ได้ในที่สุด
พลเรือโทอัลเบอร์โต คาร์ลอสผู้บัญชาการหน่วยนาวีฟิลิปปินส์ตะวันตก กล่าวว่า เรื่องสำคัญที่สุดของรัฐบาลมะนิลาตอนนี้คือการส่งทหารไปหมุนเวียนและส่งเสบียงให้กับเรือรบเซียร์รา แมเดรในช่วงสองสัปดาห์จากนี้
ทางด้านรัฐมนตรีต่างประเทศหวัง อี้เร่งเร้าให้ฟิลิปปินส์ทำงานร่วมกับรัฐบาลปักกิ่งเพื่อลดความตึงเครียดในทะเลจีนใต้
เขากล่าวในแถลงการณ์ผ่านสื่อซินหัวของรัฐบาลจีนว่า "จีนเเสดงให้เห็นครั้งเเล้วครั้งเล่าว่ามีความเต็มใจที่จะหาทางออกให้กับความเเตกต่างกับฝ่ายฟิลิปปินส์ผ่านการหารือทวิภาคี"
เพื่อเป็นการปกป้องผลประโยชน์ทางทะเลของตนและต้านกลับเเรงกดดันของจีน ฟิลิปปินส์ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่เเล้วว่าจะร่วมงานลาดตระเวนกับสหรัฐฯ ก่อนสิ้นปีนี้ และจะเพิ่มขนาดกองเรือที่จะอารักขาการส่งเสบียง
เบลค เฮอร์ซิงเกอร์นักวิเคราะห์จากศูนย์ United States Studies Center ที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ให้สัมภาษณ์กับวีโอเอว่า "เป็นเวลายาวนาน 20 ปี ที่จีนสามารถเปลี่ยนสถานะเดิมในทะเลจีนใต้ อย่างมีนัยสำคัญโดยไม่เผชิญการต่อต้านอย่างเป็นระบบ"
เขากล่าวว่า หากฟิลิปปินส์ต้องการรักษาระเบียบที่ดีให้มีอยู่และบังคับใช้กฎเรื่องอธิปไตยของตน ทางการกรุงมะนิลาต้องแสดงให้เป็นว่าฝ่ายตนพร้อมที่จะคัดคานฝ่ายจีนในระดับเท่า ๆ กัน
"มันน่าจะมีจุดที่ว่าฟิลิปปินส์เอนเอียงเข้าหาความเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ เพื่อให้ได้รับความช่วยเหลือ" เฮอร์ซิงเกอร์กล่าว
- ที่มา: วีโอเอ