ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ฟิลิปปินส์เผย สหรัฐฯ-ญี่ปุ่น-ออสเตรเลีย มีแผนร่วมซ้อมรบในทะเลจีนใต้


แฟ้มภาพ - เรือยามฝั่งฟิลิปปินส์ลำหนึ่งกำลังแล่นผ่านเรือยามฝั่ง 'อากิสึชิมา' ของญี่ปุ่น ระหว่างการร่วมซ้อมรบของสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2023 (AP)
แฟ้มภาพ - เรือยามฝั่งฟิลิปปินส์ลำหนึ่งกำลังแล่นผ่านเรือยามฝั่ง 'อากิสึชิมา' ของญี่ปุ่น ระหว่างการร่วมซ้อมรบของสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2023 (AP)

ฟิลิปปินส์เปิดเผยในวันอาทิตย์ว่า สหรัฐฯ ญี่ปุ่นและออสเตรเลียมีแผนที่จะจัดการร่วมซ้อมรบในทะเลจีนใต้ ในบริเวณที่อยู่นอกชายฝั่งด้านตะวันตกของฟิลิปปินส์ในสัปดาห์นี้ เพื่อแสดงความมุ่งมั่นในการรักษาหลักนิติธรรมในภูมิภาค หลังจากจีนแสดงท่าทีอุกอาจรุกรานพื้นที่พิพาททางทะเลแห่งนี้ไปเมื่อไม่นานมานี้

การเปิดเผยแผนงานดังกล่าวมีออกมา หลังจากเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา เรือยามฝั่งของจีนใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงยิงใส่เรือของกองทัพฟิลิปปินส์ที่แล่นเข้ามาในเส้นทางทางน้ำที่เป็นจุดพิพาทระหว่างทั้งสองประเทศ ระหว่างการนำส่งเสบียงไปยังเรือ BRP Sierra Madre ที่ปลดระวางแล้วและทอดสมอที่สันดอน Second Thomas Shoal

เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง 2 นายของฟิลิปปินส์ซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อ บอกกับผู้สื่อข่าวเอพีว่า ในการซ้อมรบทางทะเลนี้ จะมีการนำเรือบรรทุกอากาศยานและเฮลิคอปเตอร์ 3 ลำเข้าร่วมด้วย โดยผู้บัญชาการจาก 3 ประเทศมีกำหนดเข้าพบกับผู้บัญชาการกองทัพฟิลิปปินส์ที่กรุงมะนิลาหลังการซ้อมรบทางทะเลเสร็จสิ้นลงด้วย

แหล่งข่าวดังกล่าวยังระบุด้วยว่า สหรัฐฯ จะนำเรือขนส่งอากาศยาน USS America มาร่วม ขณะที่ ญี่ปุ่นจะนำเรือ JS Izumo ซึ่งเป็นเรือรบลำใหญ่ที่สุดลำหนึ่งของตนมาทำการซ้อมรบ ส่วนกองทัพเรือออสเตรเลียจะนำเรือ HMAS Canberra ที่ทำหน้าที่บรรทุกเฮลิคอปเตอร์มาสมทบ พร้อมเปิดเผยว่า แผนงานครั้งนี้มีการวางแผนมาได้ 2-3 เดือนแล้ว

อย่างไรก็ดี หนึ่งในแหล่งข่าวนี้กล่าวว่า ฟิลิปปินส์จะไม่มีส่วนร่วมในการซ้อมรบที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากข้อจำกัดด้านโลจิสติกส์ทางทหาร แต่ก็พร้อมที่จะเข้าร่วมในอนาคต

ทั้งนี้ สหรัฐฯ ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย คือ 3 ประเทศจากหลาย ๆ ประเทศที่ออกมาประกาศจุดยืนสนับสนุนฟิลิปปินส์และแสดงความกังวลต่อการกระทำของกองทัพเรือจีนทันทีที่เกิดเหตุปะทะกันเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

และในวันเสาร์ กองทัพฟิลิปปินส์เปิดเผยว่า ฝ่ายตนจะพยายามทำการส่งเสบียงต่าง ๆ ไปให้กองกำลังของตนที่ประจำอยู่ที่สันดอน Second Thomas Shoal ซึ่งจีนอ้างความเป็นเจ้าของเช่นกันอีกครั้ง แต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดอื่น ๆ เพิ่มเติม

กองทัพฟิลิปปินส์ยังระบุในแถลงการณ์ด้วยว่า ภารกิจ “[ส่งเสบียง]ไปยังสันดอนดังกล่าว เป็นการแสดงออกอันชัดเจนของความแน่วแน่ของเราที่จะยืนหยัดต่อต้านภัยคุกคามและการขู่เข็ญ และของความมุ่งมั่นที่จะยึดมั่นหลักนิติธรรมไว้”

  • ที่มา: เอพี
XS
SM
MD
LG