กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือ เพนตากอน เปิดเผยการทดสอบยิงขีปนาวุธนำวิถีแบบข้ามทวีป จากฐานทัพอากาศในรัฐแคลิฟอร์เนียทางภาคตะวันตก ไปตกในมหาสมุทรแปซิฟิก ห่างออกไปกว่า 500 ไมล์ หรือกว่า 800 กม.
เพนตากอนปฏิเสธที่จะเผยรายละเอียดของการทดสอบในวันพฤหัสบดี โดยระบุแต่เพียงว่าเป็นการยิงจากฐานทัพอากาศแวนเดนเบิร์ก ในรัฐแคลิฟอร์เนีย
ขีปนาวุธที่ใช้ในการทดสอบครั้งนี้คือ Minuteman III แบบไม่ได้ติดหัวรบนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นขีปนาวุธที่ถูกสั่งห้ามยิงมาเป็นเวลานานหลายสิบปีภายใต้สนธิสัญญาควบคุมหัวรบนิวเคลียร์พิสัยกลางที่สหรัฐฯ ทำไว้กับรัสเซีย แต่ทั้งสองประเทศละเลยที่จะปฏิบัติตามสนธิสัญญาดังกล่าวตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา
เพนตากอนมิได้ระบุถึงระยะทำการสูงสุดของขีปนาวุธรุ่นนี้ แต่คาดว่าอยู่ระหว่าง 3,000 - 4,000 กม. ซึ่งหมายความว่าสามารถยิงจากฐานทัพสหรัฐฯ บนเกาะกวม ไปถึงบางส่วนของประเทศจีนได้
นักวิเคราะห์บางคนแสดงความกังวลว่า การทดสอบขีปนาวุธครั้งนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงในการสะสมอาวุธระหว่างประเทศมหาอำนาจสองประเทศ ดังเช่นในยุคสงครามเย็น
เมื่อกลางปีนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ถอนตัวออกจากสนธิสัญญาควบคุมหัวรบนิวเคลียร์พิสัยกลาง หรือ INF ที่สหรัฐฯ และรัสเซียลงนามร่วมกันเมื่อปี ค.ศ.1987 ในยุคสงครามเย็น เพื่อปกป้องความมั่นคงปลอดภัยของยุโรป โดยห้ามการพัฒนาหรือติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลางแบบยิงจากพื้นดินที่มีระยะทำการระหว่าง 500 - 5,500 กม. แต่ได้ถอนตัวเมื่อต้นปีโดยอ้างว่ารัสเซียละเมิดสนธิสัญญานี้ก่อน
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯและรัสเซีย ยังมีความเห็นต่างเรื่องข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างกัน โดยเมื่อไม่นานมานี้ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ได้เรียกร้องให้มีการต่ออายุสนธิสัญญาควบคุมหัวรบนิวเคลียร์ New START ซึ่งลงนามในยุคของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา และกำลังจะหมดอายุในเดือนกุมภาพันธ์ปี ค.ศ. 2021 ซึ่งกำหนดให้ทั้งสหรัฐฯ และรัสเซีย ลดหรือจำกัดการครอบครองขีปนาวุธเชิงยุทธศาสตร์
แต่คณะทำงานของประธานาธิบดีทรัมป์ ยังไม่ต่ออายุสนธิสัญญาดังกล่าว และต้องการให้ร่างข้อตกลงฉบับใหม่ ที่รวมจีนเข้าไปด้วย