ผลการวิจัยเตือนว่า การล่มสลายของสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง (the Intermediate Range Nuclear Forces (INF Treaty) ระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซียในเดือนนี้ เป็นตัวอย่างล่าสุดของความกดดันที่เพิ่มมากขึ้นต่อการสร้างความมั่นคงระดับทั่วโลก
ทีมนักวิจัยชี้ว่า จำเป็นอย่างมากที่ต้องมีการตั้งสนธิสัญญาฉบับใหม่ๆ อย่างเร่งด่วน เพื่อรับมือกับการคุกคามของเทคโนโลยีใหม่ๆ ทางอาวุธเหล่านี้
เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว รัสเซียได้ทำการทดสอบยิงขีปนาวุธครั้งใหม่ล่าสุดโดยใช้ระบบยิงขีปนาวุธที่มีความเร็วสูงกว่าเสียงที่ชื่อว่า "Avangard" ซึ่งทางการรัสเซียชี้ว่าระบบนี้สามารถทะลุทะลวงระบบป้องกันทุกประเภทที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน
ระบบ Avangard ทำงานด้วยการติดตั้งขีปนาวุธข้ามทวีปเข้ากับยานร่อนที่เดินทางเร็วกว่า 11,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในบริเวณขอบของชั้นบรรยากาศโลก เเละจะทิ้งขีปนาวุธลงสู่เป้าโจมตีเมื่อร่อนไปอยู่เหนือจุดเป้าหมาย เเละยังสามารถติดได้ทั้งหัวรบนิวเคลียร์เเละหัวรบทั่วไป
คาทาไซนา คูบีเอค (Katarzyna Kubiak) เเห่ง European Leadership Network ผู้เขียนรายงานผลการศึกษากล่าวว่า สหรัฐฯ จีน เเละออสเตรเลีย ก็กำลังพัฒนาระบบของตนเองอยู่ในขณะนี้
คูบีเอคกล่าวว่า ระบบเหล่านี้จะก้าวหน้ากว่าระบบยิงขีปนาวุธระบบต่างๆ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ทั้งในด้านความเร็วเเละความคล่องเเคล่ว เเละยังอาจมีศักยภาพหลีกเลี่ยงระบบป้องกันขีปนาวุธเเละระบบป้องกันทางอากาศได้อีกด้วย
เเละที่สำคัญที่สุด เราจะยังได้เห็นการทดสอบเทคโนโลยีต่อต้านขีปนาวุธแบบต่างๆ อีกด้วย รวมทั้งขีปนาวุธนำวิถี ซึ่งการพัฒนาขีปนาวุธที่มีความสามารถแบบคู่ ซึ่งบรรทุกได้ทั้งหัวรบทั่วไปและหัวรบนิวเคลียร์ จะนำไปสู่ความคลุมเครือมากขึ้น เเละโอกาสสูงมากขึ้นในการตัดสินใจผิดพลาดที่นำไปสู่ความเสียหายร้ายเเรง
คูบีเอคกล่าวว่า ในสถานการณ์วิกฤติ กองทัพต้องใช้ตัดสินใจภายใต้ความกดดันสูงและการไม่รู้ว่าขีปนาวุธชนิดใดกำลังมุ่งหน้ามายังจุดที่ตั้งของตน ทำให้ต้องคาดการณ์ทางลบมากที่สุด หรืออาจนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของระดับรังสีท้องถิ่น ซึ่งเรื่องนี้เน้นถึงความกังวลที่มีอยู่ในขณะนี้ต่อการพัฒนาขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ของรัสเซีย
คูบีเอคกล่าวว่า การสร้างความมั่นคงในระดับทั่วโลกเกี่ยวกับการแพร่กระจายขีปนาวุธนิวเคลียร์กำลังได้รับเเรงกดดันอย่างหนัก เเละกำลังถูกเเซงหน้าอย่างรวดเร็วโดยเทคโนโลยีการพัฒนาขีปนาวุธ
นักวิจัยกล่าวอีกว่า การสร้างความมั่นคงที่มีความซับซ้อนมากจะเป็นงานที่ยากขึ้นไปอีกเพราะการเเพร่กระจายของขีปนาวุธที่ไม่มีขอบเขตจำกัดจะเพิ่มให้การเเข่งขันทางอาวุธระหว่างประเทศเพิ่มความรุนแรงขึ้น จะเพิ่มค่าใช้จ่ายในการรักษาความมั่นคงระกับภูมิภาคเเละระดับทั่วโลก นอกจากนี้ยังจะเพิ่มค่าใช้จ่ายทางการทหารเเละความเสี่ยงของการเกิดความขัดเเย้งทางอาวุธอีกด้วย
รายงานชิ้นนี้ชี้ว่า ประชาคมโลกต้องเพิ่มความสำคัญแก่ปัญหาการเเข่งขันด้านการพัฒนาขีปนาวุธ โดยเฉพาะในนโยบายของฝ่ายการเมือง รวมทั้งต้องสร้างความเข้มเเข็งเเก่มาตรการควบคุมการเเพร่ขยายต่างๆ ที่ใช้อยู่ เเละความโปร่งใส ตลอดจนต้องเร่งเจรจาสนธิสัญญาใหม่ๆ เพื่อรับมือกับเทคโนโลยีระบบยิงขีปนาวุธที่ล้ำสมัยเหล่านี้
(เรียบเรียงโดย ทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทย กรุงวอชิงตัน)