มาตรการฉุกเฉินที่รัฐบาลต่าง ๆ ทั่วโลกนำมาใช้เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสิทธิพลเมืองและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ ผลกระทบดังกล่าวได้เกิดขึ้นในลักษณะที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะขณะที่มาตรการฉุกเฉินและคำสั่งควบคุมต่างๆ จากกรณีโควิด-19 เป็นเรื่องการตัดสินใจระหว่างความปลอดภัยของส่วนรวมกับเสรีภาพส่วนบุคคลนั้น ผู้กำหนดนโยบาย นักวิชาการ ศาล และกลุ่มสิทธิพลเมืองต่างมองผลกระทบจากเรื่องนี้แตกต่างกัน
อย่างเช่น คุณเจมส์ ฮอร์จ ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและกฎหมายสาธารณสุขที่มหาวิทยาลัย Arizona State University มองว่า คำสั่งของรัฐบาลในกรณีโควิด-19 นี้ส่งผลต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของคนอเมริกันมากที่สุดเท่าที่เคยเป็นมา
เพราะหลังจากที่องค์การอนามัยโลกประกาศว่าโควิด-19 เป็นโรคระบาดใหญ่ระดับโลกเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว รัฐบาลของมลรัฐต่าง ๆ 50 แห่งในสหรัฐฯ ได้ออกคำสั่งจำกัดกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ กัน นับตั้งแต่คำสั่งให้อยู่กับบ้าน คำสั่งปิดโรงเรียนและสถานธุรกิจ รวมถึงคำสั่งห้ามการชุมนุมของประชาชน จำกัดการเดินทางและมีข้อกำหนดเรื่องการสวมหน้ากากในสถานที่บางแห่ง เป็นต้น
แต่ดูเหมือนว่ากลุ่มที่ส่งเสียงคัดค้านคำสั่งเหล่านี้มากที่สุดคือกลุ่มเสรีนิยมหรือ Libertarian กับกลุ่มอนุรักษ์นิยมและกลุ่มทางศาสนาต่าง ๆ ที่มองว่ามาตรการเหล่านี้ล้วนเป็นการคุกคามต่อเสรีภาพของการชุมนุมและการประกอบพิธีทางศาสนาของประชาชน
แต่ในส่วนของผู้กำหนดนโยบายเองผู้ว่าการรัฐที่เป็นสมาชิกพรรครีพับลิกัน เช่น ผู้ว่าการของรัฐฟลอริดาและรัฐเซาท์ดาโกตา ได้มีคำสั่งให้รีบเปิดเศรษฐกิจในรัฐของตนโดยเร็วที่สุด ขณะที่ผู้ว่าการรัฐที่เป็นเดโมแครต อย่างเช่น ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียและรัฐมิชิแกน กลับเร่งใช้มาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดในรัฐของตนต่อไป
แต่ในที่สุดศาลของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ก็ได้เข้ามามีบทบาทในการวินิจฉัยข้อโต้แย้งเหล่านี้ว่าขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญหรือไม่ อย่างเช่น เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ศาลสูงของสหรัฐฯ มีความเห็นว่ารัฐนิวยอร์กไม่สามารถออกคำสั่งควบคุมจำนวนคนที่เข้าไปประกอบพิธีทางศาสนาภายในสถานที่ได้
และหลังจากนั้น ศาลอุทธรณ์ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ก็มีคำวินิจฉัยเช่นกันว่ารัฐบาลรัฐเนวาดาไม่สามารถออกคำสั่งจำกัดจำนวนคนผู้ประกอบพิธีทางศาสนาภายในสถานที่ซึ่งเข้มงวดมากกว่าการจำกัดจำนวนคนในสถานคาสิโนหรือในสถานประกอบธุรกิจอื่น ๆ ได้
คำวินิจฉัยของศาลสหรัฐฯ ที่ปฏิเสธคำสั่งของรัฐบาลรัฐนิวยอร์กกับรัฐเนวาดาเพื่อจำกัดจำนวนผู้ประกอบพิธีทางศาสนานี้ เป็นเพียงสองตัวอย่างจากคำฟ้องหลายร้อยคำฟ้องที่มาจากกลุ่มทางศาสนา กลุ่มส่งเสริมสิทธิเรื่องการมีอาวุธปืน ผู้สนับสนุนสิทธิในการทำแท้ง และกลุ่มประชาชนอื่น ๆ ซึ่งท้าทายมาตรการฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของรัฐต่าง ๆ
ในอเมริกานั้น อำนาจส่วนใหญ่เพื่อออกกฏหมายควบคุมเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยของสาธารณชนมักอยู่ในมือของรัฐบาลมลรัฐ ไม่ใช่รัฐบาลกลางที่กรุงวอชิงตัน และในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา อำนาจที่ว่านี้ได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งก็เป็นผลให้คนอเมริกันบางกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่สนับสนุนเรื่องสิทธิทางศาสนามองว่าการที่ผู้ว่าการรัฐประกาศข้อจำกัดต่าง ๆ ด้วยเหตุผลเรื่องการระบาดของโควิด-19 นั้น เป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตและเป็นการแบ่งแยกเลือกปฏิบัติ
และขณะนี้สภานิติบัญญัติของหลายรัฐ โดยเฉพาะที่พรรครีพับลิกันมีเสียงข้างมากควบคุมอยู่ ได้พยายามออกกฏหมายเพื่อจำกัดอำนาจดังกล่าวของผู้ว่าการรัฐด้วย
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางคน อย่างเช่น อาจารย์ยูจีน โวล็อค ผู้สอนวิชากฏหมายรัฐธรรมนูญที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย ในนครลอสแองเจลีส ได้มองว่ามาตรการควบคุมฉุกเฉินบางอย่างจากปัญหาโควิด-19 แม้จะมีการล่วงล้ำสิทธิของประชาชนบ้างก็ตาม แต่ก็อยู่ในอำนาจของรัฐบาลมลรัฐที่จะทำได้เพื่อปกป้องชีวิตและความปลอดภัยของส่วนรวม เพราะมีการออกคำสั่งปิดโรงเรียนกับสถานธุรกิจเฉพาะในบางพื้นที่และไม่ได้มีการล็อคดาวน์ในระดับประเทศ รวมทั้งไม่ได้ห้ามการเดินทางไปมาหาสู่หรือห้ามการคมนาคมขนส่งระหว่างรัฐแต่อย่างใด
อาจารย์ยูจีน โวล็อค ซึ่งแม้ตัวเขาเองก็มีแนวคิดแบบ Libertarian ยังเชื่อว่า ถึงแม้กลุ่มอนุรักษ์นิยมต่าง ๆ จะแสดงความกังวลว่าคำสั่งควบคุมฉุกเฉินของรัฐบาลจะกลายเป็น new normal ในอนาคตได้ก็ตาม แต่ตนกลับเชื่อว่ามาตรการเหล่านี้จะถูกยกเลิกไปเองเมื่อสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น
เพราะคำสั่งดังกล่าวล้วนสร้างปัญหาต่าง ๆ เศรษฐกิจและเป็นภาระต่อประชาชน ดังนั้นจึงเชื่อได้ว่าผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งในอเมริกาคงจะไม่ยอมให้มาตรการจำกัดควบคุมที่ว่านี้มีใช้ต่อไปได้อีกนาน