เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สารคดีเรื่อง Hope Frozen: A Quest to Live Twice ของไทย สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการคว้ารางวัลสารคดียอดเยี่ยมจากงาน International Emmy Awards ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้รายการและสารคดีทางโทรทัศน์ที่ผลิตและฉายนอกสหรัฐอเมริกา วีโอเอไทยมีโอกาสพูดคุยกับ 'ไพลิน วีเด็ล' ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ ถึงแรงบันดาลใจ เบื้องหลังการถ่ายทำ และก้าวต่อไปหลังจากคว้ารางวัลสำคัญ
“The International Emmy for Documentary goes to....Hope Frozen: A Quest to Live Twice!”
หลังสิ้นเสียงผู้ประกาศรางวัล International Emmy Awards ครั้งที่ 49 ผู้ชมที่ติดตามงานมอบรางวัลที่จัดขึ้นที่มหานครนิวยอร์ก ก็ได้เห็นความประหลาดใจปนความตื่นเต้นบนใบหน้าของ "ไพลิน วีเด็ล" ผู้กำกับหญิงสัญชาติไทย-อเมริกัน ผู้คว้ารางวัลสารคดียอดเยี่ยมจากเรื่อง Hope Frozen: A Quest to Live Twice
"Thank you so much. I never imagined that a story about one family will resonate around the world.”
ไพลิน ซึ่งนั่งอยู่ในคอนโดที่พักในกรุงเทพฯ กล่าวขอบคุณผ่านระบบวีดีโอคอล โดยกล่าวว่าเธอไม่คิดว่าเรื่องราวของครอบครัวหนึ่งในประเทศไทยจะสามารถทำให้ผู้คนทั่วโลกมีความรู้สึกและอารมณ์ร่วมได้ จนส่งผลให้ Hope Frozen สารคดีขนาดยาวเรื่องแรกของเธอ สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยการเป็นผลงานเรื่องแรกจากประเทศไทยที่คว้าชัยบนเวที International Emmy Awards ที่ยกย่องผลงานทางโทรทัศน์ที่ผลิตและฉายนอกอเมริกา
"ที่จริงเราติดงานอยู่เราก็เลยบินไปนิวยอร์กไม่ได้ แล้วก็พอเขาให้เราไป livestream ในงานรับรางวัล เราก็นั่งตอนประมาณหกโมงเช้า แต่งตัวสวย ๆ นั่งรอฟังชื่อเรา ก็ไม่นึกเลยว่าจะได้ยินชื่อเราเป็นผู้ชนะเลิศ ตกใจ ยังอึ้งอยู่เหมือนกันค่ะ"
Hope Frozen หรือที่มีชื่อไทยว่า “ความหวังแช่แข็ง: ขอเกิดอีกครั้ง” เล่าเรื่องราวของครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์ ที่แช่แข็งเซลล์สมองของลูกสาววัย 2 ขวบ ด้วยเทคนิคไครออนิกส์ (chryonics) ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากที่เธอเสียชีวิตลงในวัยเพียง 2 ขวบด้วยโรคมะเร็งในสมอง โดยที่ครอบครัวหวังว่าในวันหนึ่งที่เทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้ามากพอ สมาชิกคนเล็กของครอบครัวจะมีโอกาสฟื้นคืนชีวิตอีกครั้ง
"การได้รับรางวัลครั้งนี้เป็นสิ่งที่พิเศษมาก เพราะว่ามันเป็นเรื่องแรกในไทยที่ได้รางวัลเอมมี่ เรานึกไม่ถึงว่าเรื่องของเราที่เกี่ยวกับครอบครัวไทยครอบครัวหนึ่งจะเหมือนไปสัมผัสกับคนดูทั่วโลกได้ขนาดนี้ เขาอินกับเรื่องนี้มาก เราก็นึกไม่ถึงว่า เรื่องของเราสามารถที่จะทำให้เขารู้สึกไปด้วย ให้เขาเข้าใจประเด็นไปด้วย ให้เขานั่งคิดกับประเด็นต่าง ๆ ที่อยู่ในเรื่องลึกพอที่จะมานอมิเนท (เสนอชื่อ) เรา ก็ภูมิใจ และอยากขอบคุณครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์มาก ๆ ที่ไว้ใจให้เรามาถ่ายทำครอบครัวเขามากกว่า 2 ปีที่จะถ่ายทำเสร็จ เขาก็ช่วยให้กำลังใจเรามาตลอดค่ะ"
เรื่องราวของครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์นั้น ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศอย่างมากเมื่อ 6 ปีก่อน หลังจากที่เด็กหญิงเมทรินทร์ เนาวรัตน์พงษ์ หรือน้องไอนส์ กลายเป็นบุคคลอายุน้อยที่สุดในโลกที่อยู่ในกระบวนการไครออนิกส์ ซึ่งเป็นวิธีแช่แข็งร่างของสิ่งมีชีวิตที่เสียไปแล้วด้วยไนโตรเจนเหลวภายใต้อุณหภูมิที่ต่ำกว่า -196 องศาเซลเซียส เพื่อคงสภาพเซลล์เนื้อเยื่อของร่างกายได้เป็นระยะเวลานาน
แต่ขณะเดียวกันการตัดสินใจของครอบครัว ได้ก่อให้เกิดการถกเถียงและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมไทย ทั้งในประเด็นเรื่องความเป็นไปได้ทางวิทยาศาสตร์ และความเชื่อเกี่ยวกับความตายในทางพุทธศาสนา
ในเวลานั้น ไพลิน ซึ่งทำข่าวและสารคดีเชิงข่าวในไทยและประเทศเพื่อนบ้านให้กับสำนักข่าวต่างประเทศมาเป็นเวลานานหลายปี ได้ไปพบกับครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์เช่นกัน โดยตั้งใจเพียงไปเป็นล่าม ช่วยแปลให้กับสามีของเธอ ซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวชาวอเมริกัน
"ต้องบอกก่อนเลยค่ะว่าตอนไปพบครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์ครั้งแรก เราไม่ได้นึกอยากจะทำสารคดียาว เพราะว่าเรายังนึกภาพไม่ออกจะเป็นยังไง แต่สิ่งที่เราทราบ ณ โมเมนต์นั้นคือ นี่คือครอบครัวที่พิเศษ และครอบครัวที่เราพบปั๊บ เรากลับมีประเด็นหลายอย่างที่ทำให้เราคิดจนนอนไม่หลับ คิดแบบลึก ลึกซึ้งกับความรักท่ี่เขามีต่อลูก แต่ก็มีประเด็นคำถามที่ครอบครัวก็ได้ยกขึ้นมาหลายอย่าง การทำสารคดีครั้งนี้เหมือนเป็นวิธีหนึ่งที่ให้โอกาสเราไปแสวงหาคำตอบกับคำถามพวกนี้ที่เราได้ตั้งกับตัวเองขึ้นมา ซึ่งในสารคดีนี้ก็ไม่ได้แปลว่าเราให้คำตอบไปหมด คือการทำสารคดีส่วนใหญ่ถ้าเป็นสไตล์ของเราก็คือเป็นการยกคำถามมามากกว่า แล้วให้คนดูไปคิดเอง"
"พอถ่ายไปสักพัก ก็คุยกับครอบครัวใหม่ว่า ขอถ่ายไปเรื่อย ๆ นะคะ (หัวเราะ) คิดว่าเรื่องนี้มีโอกาสที่จะยาว เลยอยากจะใช้เวลาขอทุนเพื่อที่จะได้ทำชิ้นงานที่ครอบคลุมทุกอย่างที่เราอยากจะครอบคลุม ไม่ใช่แค่เรื่องสั้น ๆ ไม่ใช่แค่ข่าวที่ออกไปเป็นการพาดหัวข่าวที่ทำให้ทุกคนตกใจ เราอยากใช้เวลาถ่ายทำเพื่อเพิ่มความเข้าใจให้กับคนดูด้วย"
ก่อนหน้านี้ Hope Frozen ได้คว้ารางวัลสารคดีต่างประเทศยอดเยี่ยม (Best International Feature Documentary) ในปี พ.ศ.2562 จากงานเทศกาล Hot Docs (Canadian International Documentary Festival) ที่กรุงโตรอนโต ประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นเทศกาลสารคดีที่ใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกาเหนือ Hot Docs ยังเป็นเวทีแรกที่สารคดี Hope Frozen ที่ไพลินใช้เวลาถ่ายทำ ระดมทุน และตัดต่อกว่าสี่ปี ได้ออกสู่สายตาผู้ชมทั่วโลกเป็นครั้งแรก
"ความรู้สึกของเราที่ได้ไปดูคนที่กำลังดูหนังเรา เราดูเขา เขาดูหนังเรา มันเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์มาก เราได้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นเนเธอร์แลนด์ หรือแคนาดา หรือเกาหลี หรือญี่ปุ่น หรือที่ไหนก็แล้วแต่ รีแอคชั่น (ปฏิกิริยา)ของเขา ความอินของเขากับเรื่องนี้เหมือนกันหมดค่ะ ในที่สุดมันคือประเด็นที่เกี่ยวกับมนุษย์ และความเป็นมนุษย์ การมีชีวิตคืออะไร ความตายคืออะไร มันเป็นประเด็นและคำถามที่คิดว่าทุกคนไม่ว่าจะมาจากประเทศไหนมีหมด"
หลังจากนั้น Hope Frozen ก็ได้รับเลือกให้ไปฉายตามเทศกาลภาพยนตร์และสารคดีต่าง ๆ ทั่วโลก ก่อนที่เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ผู้ให้บริการสตรีมมิ่งจะติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์นำสารคดีไปเผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มของตน ซึ่งถือเป็นสารคดีไทยเรื่องที่สอง ที่เป็นสารคดี Netflix Original
อย่างไรก็ตาม ก่อนจะเป็นสารคดีที่ประสบความสำเร็จได้ทั้งรางวัลและการตอบรับจากผู้ชมทั่วโลกในวันนี้ ไพลิน ต้องพบกับความท้าทายอย่างมากในการหาทุนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เพื่อถ่ายทำสารคดีที่เป็นแนว character-driven narrative ซึ่งเป็นการใช้เทคนิคการเล่าเรื่องในลักษณะของภาพยนตร์ทั่วไปมาใช้ในสารคดี
“ทุนในเมืองไทยมีน้อยมาก น้อยมาก ๆ เลย เราสมัครไปก็ไม่ได้เลยซักอย่างในเมืองไทย แล้วถ้าเป็นทุนที่เมืองนอกเขาก็จะเน้นสารคดีที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนหรือสิ่งร้ายแรงที่เกิดในแต่ละประเทศ...พอเป็นเรื่องนี้ ไม่เกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ไม่เกี่ยวกับเรื่องสังคม มันก็เลยหาทุนยากมาก" ไพลินกล่าว
"คือเราก็คิดว่าก็ดีแล้วที่มีทุนให้กับสารคดีที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน แต่ว่าพอมีทุนที่ให้เฉพาะสิ่งนี้ สิ่งที่เผยแพร่ออกไปมันก็จะเป็นแค่สิ่งที่ร้าย ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศ เราก็จะไม่เห็นคนธรรมดาหรือครอบครัวที่เป็นแบบครอบครัวเนาวรัตนพงษ์ที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ ที่เป็น futurist (ผู้ที่พยายามศึกษาหรือทำความเข้าใจอนาคต) ก็จะไม่เห็นความหลากหลายของคนที่มาจากประเทศนั้น”
นักข่าวสัญชาติไทย-อเมริกันวัย 39 ปี เล่าว่าบางครั้งเธอผ่านเข้าไปถึงรอบสุดท้ายในการขอทุน และได้รับเชิญให้เดินทางไปไปนำเสนอต่อหน้าคณะกรรมการหรือผู้ชมภายในเวลาไม่กี่นาที แต่ก็มีเหตุให้ต้องกลับบ้านมือเปล่าหลายครั้ง เธอใช้เวลาถึงสองปีกว่าจะได้ทุนก้อนแรกมาทำสารคดี
“ท้อเยอะมาก ๆ เลยค่ะ คือช่วงแรกสองปีแรกทุกคนในทีมงานทำงานฟรีหมด (ช่างภาพ) มีกล้องเขาเอง เราก็ไม่ต้องเช่า คือแบบต้นทุนต่ำมาก ๆ เราก็ไม่ให้เงินเดือนตัวเอง ไปรับงานสารคดีหรืองานข่าวอื่น ๆ เพื่อที่จะหาเงินมาใส่สารคดีเรื่องนี้ ท้อหลายครั้งเลยค่ะ...มีความเหนื่อยทั้งร่างกายและเหนื่อยใจ ทุกครั้งที่พ่ายแพ้มาไม่ได้รับทุน ก็จะกลับบ้าน มานั่งอยู่กับครอบครัว อาจจะไปเดินป่าอะไรแบบนี้ ให้ความท้อหลุดออกมาจากร่างกายเรา...เราโชคดีมากที่เรามีทีมงานและครอบครัวที่ซัพพอร์ตเราตลอด พอเราแพ้หรือท้อมาเขาก็ช่วยชูให้เราลุกขึ้นมาใหม่ได้”
ไพลินยอมรับว่าการที่ผลงานสารคดีขนาดยาวเรื่องแรกได้รับรางวัลและประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ ช่วยให้การหาทุนสำหรับการถ่ายทำสารคดีเรื่องที่สองง่ายขึ้นระดับหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันได้สร้างความกดดันพอที่จะทำให้เธอ "นอนไม่หลับประมาณหนึ่ง" เช่นกัน เธอมองว่าการทำสารคดีแต่ละเรื่องนั้นมีความท้าทายอยู่เสมอ เช่น ระยะเวลาในการถ่ายทำ การเข้าถึงแหล่งข่าว และการบันทึกถ่ายทำเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงนั้นไม่สามารถคาดหวังอะไรได้มากนัก
"อะไรที่อยู่ในจินตนาการของเราจะมันมีจริงหรือไม่ มันควบคุมไม่ได้ มันไม่ได้เป็นเหมือนหนังทั่วไป ความท้าทายตรงนี้ก็ยังเป็นสิ่งที่ยากมาก ๆ เราไม่รู้เลยว่าพรุ่งนี้เราจะไปถ่ายอะไร"
การคว้ารางวัลจากเวทีใหญ่ครั้งนี้ ทำให้เธอได้เห็นความเปลี่ยนแปลง ที่แสดงให้เห็นว่าผู้ชมทั่วโลกเปิดกว้างและต้องการรับรู้เรื่องราวจากประเทศและวัฒนธรรมอื่น ๆ มากขึ้น
"ในสภาวะโลกตอนนี้ที่ทุกคนอยากจะเห็น อยากจะดูอะไรใหม่ ๆ อยากจะดูอะไรที่ไม่เคยเห็นมาก่อน หรืออะไรที่เพิ่มความเข้าใจหรืออะไรที่ทำให้เขาคิด เมื่อก่อนเราอาจจะคิดว่าต้องเป็นเรื่องอเมริกัน ยุโรปที่จะชนะรางวัลออสการ์ได้ ชนะรางวัลเอมมี แต่ตอนนี้โอกาสของการเสนอเรื่องที่มาจากไทยหรือจากประเทศอื่น ๆ ที่ไม่เคยได้เข้าไปชิงกับเขาเลย ตอนนี้มันมีช่องให้เราแล้ว แล้วก็อยากให้ทุกคนที่ทำหนัง ผลิตสารคดี หรือแม้แต่ทำข่าว อยากให้เขาเข้าใจว่าเรื่องของคนไทยก็สำคัญนะ มันก็มีโอกาสให้เราด้วยนะ"