สื่อต่างชาติรายงานข่าวถึงกระแสต่อต้านการเปิดตัว “ลูกหนัง” ศีตลา วงษ์กระจ่าง บุตรสาวของศรัณยู – หัทยา วงษ์กระจ่าง ในฐานะศิลปินเคป็อปวง H1-KEY จากค่ายเพลง Grandline Group หรือ GLG จากการที่เธอและครอบครัวเคยมีส่วนร่วมประท้วงขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของน.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตามมาด้วยการรัฐประหารที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและการก้าวขึ้นสู่อำนาจของเขาและองคาพยพตั้งแต่พ.ศ. 2557 จนถึงปัจจุบัน
สำนักข่าว เดอะ โคเรีย ไทมส์ รายงานว่า ผู้ที่ไม่เห็นด้วยต่อการเปิดตัวศีตลาในฐานะศิลปินเกาหลี ระบุทางทวิตเตอร์ว่า ศรัณยู วงษ์กระจ่าง บิดาของเธอ เป็นผู้จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ สนับสนุนบทบาทของทหารในการเมืองไทย และผลิตโฆษณาชวนเชื่อสนับสนุนระบอบดังกล่าว และเนื่องจากศีตลาระบุในประวัติของเธอที่เผยแพร่โดยค่าย GLG ว่า ศรัณยูเป็น “บุคคลต้นแบบของเธอ” พวกเขาจึงเห็นว่าเธอก็มีแนวคิดสนับสนุนการปกครองโดยทหารเช่นกัน
เดอะ โคเรีย ไทมส์ รายงานว่า ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ในไทยจำนวนมากเห็นว่า ศีตลาและครอบครัวของเธอสนับสนุนการทำรัฐประหาร ซึ่งพวกเขามองว่าเป็นการขัดขวางประชาธิปไตยและโอกาสการพัฒนาหลายอย่างของประเทศ และเป็นการพราก “ความฝัน” ของเยาวชนไทยหลายคนที่เติบโตในช่วงเจ็ดปีที่พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ตัวของศีตลาเองกลับเลือกที่จะคว้าโอกาสและทำตามฝันในประเทศประชาธิปไตยเต็มใบอย่างเกาหลีใต้ และไม่ต้องรับผลกระทบที่เป็นผลพวงจากการทำรัฐประหารในไทย
สำนักข่าว เดอะ โคเรีย ไทมส์ รายงานต่อว่า ความเห็นของชาวเกาหลีใต้ต่อประเด็นดังกล่าวแบ่งเป็นสองฝ่าย ฝั่งหนึ่งเห็นว่า ไม่ควรนำจุดยืนทางการเมืองของศรัณยูและครอบครัวมาใช้ต่อว่าศีตลา
อย่างไรก็ตาม อีกฝั่งหนึ่งกลับเห็นว่า ค่าย GLG ควรให้เธอออกจากวง H1-Key เนื่องจากประเด็นของเธออาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ชื่อเสียงของวงการเคป็อปที่มีอิทธิพลทางวัฒนธรรมไปทั่วโลก และการที่ทางค่ายวางตัวศีตลาไว้ในวงเพื่อดึงดูดฐานแฟนคลับชาวไทย กลับกำลังส่งผลตรงกันข้าม
ทางด้านเว็บไซต์ Koreaboo ระบุว่า ชาวเน็ตเกาหลีใต้จำนวนมากแสดงความเห็นทั้งในชุมชนสังคมออนไลน์ของเกาหลีใต้ รวมถึงแสดงการสนับสนุนชาวเน็ตไทยในทวิตเตอร์ โดยพวกเขาเห็นด้วยว่าควรยกเลิกการเปิดตัวศีตลา เนื่องจากการแสดงจุดยืนทางการเมืองของเธอที่พวกเขาเห็นว่าเป็นการ “สนับสนุนระบอบเผด็จการ” ซึ่งเกาหลีใต้เองก็เคยตกอยู่ในระบอบเผด็จการมาก่อน รวมถึงเกาหลีใต้เองก็มีประเด็นกับระบอบอำนาจนิยมในจีน จึงไม่ควรเปิดพื้นที่ให้ผู้สนับสนุนระบอบดังกล่าวที่เป็นคนไทยเช่นกัน
เว็บไซต์ข่าวเคป็อปของสหรัฐฯ KpopStarz ระบุว่า ในช่วงแรกของการเปิดตัววง H1-Key มีกระแสตอบรับในทางที่ดีถึงรูปลักษณ์ของสมาชิกของวง รวมถึงจับตาดูศีตลา ซึ่งจะเป็นศิลปินชาวไทยอีกคนในวงการเคป็อป ก่อนที่ชาวเน็ตจะพบข้อมูลเพิ่มขึ้นของศีตลาในเวลาต่อมา
KpopStarz อ้างความเห็นของผู้ใช้งานทวิตเตอร์ ชื่อบัญชี maetubtimgrob ที่ระบุว่า คนไทยไม่ได้มีปัญหากับการเป็นศิลปินของศีตลา แต่มีประเด็นกับข้อเท็จจริงที่ว่า เธอและครอบครัวสนับสนุนการทำรัฐประหารในไทยอย่างเปิดเผย ซึ่งตามมาด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชนและความรุนแรง ซึ่งเป็นสิ่งที่ “ให้อภัยไม่ได้”
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก KpopStarz ระบุว่า ค่ายเพลง GLG เป็นค่ายเพลงลูกของค่าย Grandline Entertainment ที่ก่อตั้งโดย Geeks ศิลปินคู่ฮิปฮอปชาวเกาหลีใต้เมื่อปี พ.ศ. 2553 โดยวง H1-KEY ซึ่งอ่านออกเสียงว่า “ไฮคีย์” (high-key) จะเป็นศิลปินเกิร์ลกรุ๊ปวงแรกของค่าย GLG
KpopStarz ระบุว่า ค่าย GLG ประกาศเปิดตัววง H1-KEY เมื่อวันที่ 18 พ.ย. พร้อมเปิดตัวบัญชีสื่อสังคมออนไลน์อย่างเป็นทางการของทางวง และนับตั้งแต่วันที่ 23 พ.ย. ทางค่ายก็เริ่มทยอยเปิดตัวสมาชิกแต่ละคนพร้อมประวัติ โดยสมาชิกของวงประกอบด้วย Yel, Seoi, Riina และศีตลา หรือ Sitala และมีกำหนดเปิดตัวผลงานของวงอย่างเป็นทางการในวันที่ 5 ม.ค. นี้
ค่าย GLG ระบุว่า วง H1-KEY ต้องการแสดงออกถึงความงามอย่างมั่นใจและสุขภาพดีของพวกเธอ เช่นเดียวกับการแสดงออกถึงความแข็งแกร่งจากภายในและการเห็นคุณค่าในตนเอง
ย้อนกลับไปเมื่อสามปีที่แล้ว ในบทสัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Kpopmap ขณะที่ศีตลาเคยเป็นศิลปินฝึกหัดของค่าย LIONHEART Entertainment เธอกล่าวว่า เมื่อเทียบบรรยากาศการทำงานระหว่างไทยกับเกาหลีใต้แล้ว คนไทยจะเข้มงวดน้อยกว่า สบายๆ กว่าและมีความรับผิดชอบน้อยกว่า เช่น อาจมาสาย ในขณะที่คนเกาหลีใต้จะรับผิดชอบกับตารางงานมากกว่า ตรงเวลามากกว่า
ศีตลากล่าวเมื่อครั้งนั้นว่า บรรยากาศการทำงานของทั้งสองประเทศต่างมีข้อดี และส่วนตัวเธอชอบระบบฝึกศิลปินของเกาหลีใต้เพราะมีตารางที่แน่นอน และระบบที่เข้มงวดทำให้เธอมีสมาธิกับการฝึกและพัฒนาตนเองได้อย่างรวดเร็ว
เธอยังกล่าวถึงศิลปินฝึกหัดชาวไทยในเกาหลีใต้ในขณะนั้นด้วยว่า “อย่ายอมแพ้ในสิ่งที่ต้องการทำและสิ่งที่ชอบ โอกาสมักมาในเวลาที่เราคาดหวังน้อยที่สุด”
ทั้งนี้ ค่าย GLG ยังไม่มีความเห็นต่อประเด็นในครั้งนี้