หลังจากที่วีโอเอไทยได้นำเสนอเรื่องราวของ แชมป์ เอ็นซมิงเกอร์ (Champ Ensminger) ชาวอเมริกันเชื้อสายไทย ที่ทำสารคดีสั้นเรื่อง “ยายนิล” เกี่ยวกับคุณยายของเขา ที่ไปคว้ารางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์ในสหรัฐฯ มาแล้วนั้น ในตอนที่สองนี้ วีโอเอมีรายงานเกี่ยวกับการตอบรับของผู้ชมต่อสารคดี "ยายนิล" หลังจากการฉายตามเทศกาลภาพยนตร์ในสหรัฐฯ
“ยายนิล” เป็นสารคดีที่ผลิตและกำกับโดย แชมป์ เอ็นซมิงเกอร์ชายหนุ่มเชื้อสายไทยในเมืองซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา ที่เล่าเรื่องราวของ นิลวรรณ ภิญโญ คุณยายวัย 85 ปี เจ้าของกิจการแหนมและหมูยอที่เป็นที่รู้จักกันดีในจังหวัดเชียงใหม่
สารคดีความยาว 13 นาที หยิบยกเอาบางส่วนของชีวิตยายนิลมาเล่า เพื่อสะท้อนให้เห็นบทบาทของหญิงวัย 85 ปี ที่เป็นทั้งแม่ และยาย เป็นนักธุรกิจที่ดูแลกิจการและคนงานหลายสิบคนด้วยตัวเอง และเป็นเสาหลักสำคัญของครอบครัว หลังจากที่สูญเสียสามีไป ในขณะที่ลูกหลานส่วนใหญ่ อยู่ไกลถึงเมืองสโปแคน (Spokane) รัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา
สารคดีเรื่องยายนิลออกฉายครั้งแรกในเทศกาลภาพยนตร์ Seattle Asian American Film Festival ในเดือนกุมภาพันธ์ปีที่ผ่านมา และในการฉายรอบพรีเมียร์นั้นเอง ยายนิล ก็คว้ารางวัล Best Documentary Short หรือสารคดีขนาดสั้นยอดเยี่ยมไปได้ ซึ่งแชมป์ ผู้ใช้เวลาสองปีครึ่งในการทำสารคดีเรื่องนี้ บอกว่าเป็นเรื่องที่พิเศษมาก ๆ สำหรับตัวเอง เพราะมีครอบครัวและเพื่อน ๆ มานั่งดูด้วย และยังเป็นเทศกาลภาพยนตร์ที่เคยสร้างแรงบันดาลใจให้แชมป์มาก่อน
“เราชนะรางวัลสารคดีขนาดสั้นยอดเยี่ยมในเทศกาล Seattle Asian American Film Festival 2020 ซึ่งเป็นสิ่งที่เยี่ยมมาก ๆ ครับ นั่นเป็นการฉายครั้งแรก แล้วก็ได้รางวัลเลย เป็นเรื่องที่พิเศษมาก ๆ” แชมป์กล่าวกับวีโอเอ
หลังจากนั้น ชายหนุ่มเชื้อสายไทยวัย 32 ปีได้นำสารคดีไปฉายตามเทศกาลภาพยนตร์และสารคดีอื่นๆ อีกสิบกว่าเทศกาลทั่วสหรัฐฯ และคว้ารางวัลสารคดีขนาดสั้นยอดเยี่ยมเพิ่มเติมจากเทศกาล DC Asian Pacific American Film Festival 2020, Local Sightings Film Festival 2020 และรางวัล Programmers Choice, Documentary Short จากเทศกาล Bushwick Film Festival 2020 ในนิวยอร์ก
อย่างไรก็ตามมีเพียง สองเทศกาลแรกเท่านั้นที่มีการฉายแบบปกติ ก่อนที่การระบาดของโควิด-19 จะทำให้เกิดการล็อคดาวน์ เทศกาลภาพยนตร์ต่างๆ ถูกยกเลิก หรือเปลี่ยนรูปแบบเป็นการฉายและการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้ชมทางออนไลน์
“เป็นเรื่องที่น่าเสียดายเหมือนกันที่เทศกาลภาพยนตร์เหล่านี้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และมาตรการในการรับมือการระบาด...แต่ถึงอย่างนั้นผมก็รู้สึกดีใจมากที่มีผู้ชมและคนทำหนังชาวเอเชียนอเมริกันหลายคนที่รู้สึกซาบซึ้ง และมีความรู้สึกร่วมไปกับสารคดียายนิล”
“ผมคิดว่าสารคดีเรื่องยายนิลโดนใจพวกเขาในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ที่พวกเขามีกับคนรุ่นปู่ย่าตายายโดยเฉพาะในสังคมเอเชียนอเมริกัน ในอีกมุมหนึ่ง ก็มีคนดูเชื้อสายเอเชียที่รู้สึกว่าประเด็นที่โดนใจพวกเขา คือเรื่องของการเติบโตมาในครอบครัวผู้อพยพในสหรัฐฯ ที่ในขณะเดียวกันก็พยายามรักษาสายสัมพันธ์กับญาติที่น้องในเอเชีย ซึ่งเป็นประเด็นที่กระทบจิตใจหลายคน”
นอกจากการนำเสนอแง่มุมต่าง ๆ ของชีวิตคุณยาย ที่จังหวัดเชียงใหม่แล้ว สารคดีเรื่องยายนิล ยังเป็นโอกาสให้แชมป์ได้ถ่ายทอดภาพลักษณ์ของผู้สูงวัยชาวเอเชีย ที่หลายคนยังมีความแอคทีฟ มีทัศนคติเชิงบวก
เขามองว่าในยุคปัจจุบัน ปู่ย่าตายายหลายคนต้องอยู่ตัวคนเดียว หรือห่างไกลจากลูกหลาน แต่ก็ยังมีกำลังใจที่จะใช้ชีวิตในบั้นปลายอย่างมีความสุขและสงบตามอัตภาพ ซึ่งลักษณะเหล่านี้ มักจะไม่ใช่ภาพลักษณ์ของผู้สูงวัยชาวเอเชียที่สื่ออเมริกันนำเสนอ
ผู้ที่สนใจ สามารถรับชมสารคดีเรื่องยายนิลได้จากเว็บไซต์ yainindoc.com
และถึงแม้จะได้นำสารคดีเรื่องแรกในชีวิตไปฉายตามเทศกาลภาพยนตร์ในสหรัฐฯ แต่แชมป์บอกว่าความฝันของเขาคือการได้นำสารคดีเรื่องยายนิลไปฉายในโรงภาพยนตร์ที่กรุงเทพและเชียงใหม่ จังหวัดบ้านเกิด และหวังว่าจะทำให้คนดูได้นึกถึงคุณย่าคุณยาย ผู้มีบทบาทสำคัญในครอบครัวไทย