ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาในมหานครนิวยอร์ก ผู้คนหลายแสนที่ผ่านไปมาบริเวณไทม์สแควร์ (Times Square) หรือศูนย์ศิลปะการแสดงลินคอล์น เซ็นเตอร์ (Lincoln Center) บนเกาะแมนฮัตตัน ตลอดจนผู้คนอีกนับล้านที่เดินทางสัญจรโดยระบบรถไฟใต้ดิน และรถเมล์ ต่างได้เห็นภาพวาดใบหน้าของคนเชื้อสายเอเชีย พร้อมข้อความสั้นแต่ทรงพลัง เช่น “I did not make you sick” (“ฉันไม่ได้ทำให้เธอป่วย”) หรือ “I am not your scape goat” (“ฉันไม่ใช่แพะรับบาป”) และ “This is our home too”(“ที่นี่คือบ้านของฉันเหมือนกัน”)
นิทรรศการภาพวาดสีสันสดใสสะดุดตาที่กระจัดกระจายอยู่ตามสถานที่สำคัญ และใน 76 ชุมชนทั่วนิวยอร์กเหล่านี้ คือผลงานของ Amanda Phingbodhipakkiya (อแมนดา) ศิลปินสาวเชื้อสายไทยในนิวยอร์กที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากในสหรัฐฯ
"ฉันคิดว่ามันสำคัญมากที่ฉันจะต้องกล้าประกาศออกไปว่าเอเชียนอเมริกันเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่นี่ เพราะว่าส่วนใหญ่แล้ว ชาวเอเชียนอเมริกันมักจะถูกมองว่าเป็นคนหัวอ่อน ชอบอยู่เงียบ ๆ และไม่กล้า ซึ่งเป็นทัศนคติเหมารวมที่ไม่เป็นความจริง ยิ่งถ้าได้มาเห็นพี่ป้าน้าอาของเราจะรู้เลยว่า ภาพลักษณ์เหล่านั้นห่างไกลจากความเป็นจริงมาก" อแมนดากล่าวกับวีโอเอไทย
อแมนดา ซึ่งเป็นอดีตนักศึกษาด้านประสาทวิทยา สร้างชื่อเสียงจากการเป็นศิลปินที่ใช้งานศิลปะหลายแขนงเพื่อถ่ายทอดความมหัศจรรย์และความน่าทึ่งของวิทยาศาสตร์ แต่สภาพความว่างเปล่าของย่านไชนาทาวน์ในนิวยอร์ก หลังการระบาดของโควิด-19 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เหตุการเหยียดเชื้อชาติและการใช้ความรุนแรงต่อคนเอเชียที่มากขึ้น ทำให้เธอต้องการใช้ศิลปะเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับชุมชนเอเชียนอเมริกัน
งานนิทรรศการภาพวาดชุดที่ชื่อว่า “I Still Believe in Our City” หรือ “ฉันยังเชื่อมั่นในเมืองของเรา” เป็นผลงานที่อแมนดาได้รับการสนับสนุนจากแผนกวัฒนธรรมของมหานครนิวยอร์ก เมืองที่มีผู้คนเชื้อสายเอเชียมากที่สุดในสหรัฐฯ
"ฉันคิดว่านิวยอร์กยังไม่ได้ทำหน้าที่ปกป้อง หรือต่อสู้เพื่อชาวเมืองที่เป็นคนเอเชียนอเมริกัน ปัญหาต่าง ๆ ของคนเอเชียนอเมริกันมักจะถูกกวาดซ่อนไว้ใต้พรม ทำให้พวกเขารู้สึกไร้ตัวตน ฉันพยายามจะทำให้การจัดแสดงงานศิลปะในที่สาธารณะนี้เป็นเสมือนการ “ทวงคืนพื้นที่” ที่ทำให้ชาวนิวยอร์กไม่สามารถมองข้ามคนเอเชียนอเมริกันได้อีกต่อไป"
แม้จะเกิดและเติบโตมาในสหรัฐฯ แต่รูปร่างหน้าตาแบบคนเอเชีย ทำให้อแมนดาต้องพบกับการถูกเหยียดเชื้อชาติเช่นกัน
"วันหนึ่งฉันกำลังขึ้นรถไฟใต้ดินในนิวยอร์กก่อนที่จะมีการล็อคดาวน์ ผู้ชายคนหนึ่งหันมามองฉัน แล้วพูดขึ้นว่า “อี๋ น่าขยะแขยง” ก่อนจะรีบรุดไปยังอีกด้านหนึ่งของตู้รถไฟ ซึ่งมันทำให้ฉันรู้สึกตกตะลึงไปพักหนึ่งเลย หลังจากที่ตั้งสติได้ ฉันเสียดายที่ฉันไม่ได้พูดบางอย่างออกไป เช่นฉันอยากจะบอกเขาว่าฉันไมไ่ด้ทำให้เขาติดโรค"
ศิลปินสาวเชื้อสายไทยวัย 33 ปีจึงได้เก็บเอาถ้อยคำที่อยากพูดออกไป แต่พูดไม่ออกในวันนั้น เช่น “ฉันไม่ใช่เชื้อโรคทำให้เธอป่วย” มาเป็นส่วนหนึ่งของภาพงานศิลปะ โดยเชื่อว่าเป็นข้อความแทนใจชาวเอเชียนอเมริกันหลายคนเช่นกัน
การสำรวจและการรวบรวมข้อมูลจากหลายแหล่งระบุตรงกันว่า การแสดงความเกลียดชังต่อผู้มีเชื้อสายเอเชียในสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้นหลังจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งการแสดงความเกลียดชังส่วนใหญ่ เป็นการคุกคามทางวาจา การถูกคนในสังคมแสดงความรังเกียจ และการทำร้ายร่างกาย
การศึกษาข้อมูลใน 16 เมืองใหญ่ของสหรัฐฯ โดย Center for the Study of Hate and Extremism ที่มหาวิทยาลัย California State University เมืองซานเบอร์นาดิโน พบว่า มีการแจ้งความอาชญากรรมอันเกิดจากความเกลียดชังเพิ่มขึ้น 164% ในช่วงสามเดือนแรกของปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน โดย นิวยอร์กและลอสแอนเจลิส เป็นสองเมืองที่มีเหตุเกิดมากที่สุดในสหรัฐฯ
เหตุการณ์ที่ชายอเมริกันผิวขาวบุกเข้าไปยิงสปา 3 แห่ง ในเมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย ใกล้กับบ้านเกิดของอแมนดา ยังเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจเธออย่างมาก เหตุการณ์ครั้งนั้นในเดือนมีนาคม ทำให้มีผู้เสียชีวิต 8 คน โดย 6 คนเป็นผู้หญิงเชื้อสายเอเชีย และหนึ่งในนั้นอยู่ไม่ไกลจากบ้านคุณพ่อคุณแม่ของเธอ
หลังจากเหตุดังกล่าว นิตยสารไทม์ แมกกาซีน (Time Magazine) ได้นำผลงานของเธอลงเป็นหน้าปกของนิตยสารฉบับปลายเดือนมีนาคม นอกจากนั้นเมืองอื่น ๆ ในสหรัฐฯ ยังนำงานนิทรรศการเพื่อต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อชาวเอเชียไปจัดแสดงหรือเผยแพร่ต่ออีกด้วย
ล่าสุด ภาพวาดใบหน้าคนเอเชีย ในชุด “I Still Believe in Our City” จำนวน 5 ภาพของอแมนดาที่ติดตามป้ายรถเมล์ในนิวยอร์ก ยังได้รับเลือกให้นำไปแสดงในVictoria and Albert Museum พิพิธภัณฑ์ชื่อดังในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
"ที่ผ่านมา ชาวเอเชียนอเมริกันบอกฉันว่า การได้เห็นภาพใบหน้าขนาดใหญ่ของคนเชื้อสายเอเชียในพื้นที่ที่โดดเด่นที่สุดในนิวยอร์ก ทำให้พวกเขารู้สึกภูมิใจ และปลอดภัยมากขึ้นอีกนิดนึง เพราะหลายครั้งมีคนบอกพวกเราว่าเราไม่ใช่ส่วนหนึ่งของที่นี่ หรือเราควรกลับไปยังที่ที่เราจากมา การได้เห็นใบหน้าของพวกเขาอยู่ในที่เหล่านี้ ทำให้พวกเรารู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคมพหุวัฒนธรรมของอเมริกา เพราะนั่นคือความจริง"