ลิ้งค์เชื่อมต่อ

งานวิจัยชี้ 90% ของขยะพลาสติกในมหาสมุทรมาจาก 'แม่น้ำ 10 สาย' ส่วนใหญ่อยู่ในเอเชีย


แต่ละปีมีขยะถูกทิ้งลงในมหาสมุทรต่างๆ เป็นปริมาณมหาศาล ราว 8 ล้านตัน หรือเฉลี่ยพอๆ กับหนึ่งรถบรรทุกในทุกหนึ่งนาที โดยรายงานวิจัยชิ้นล่าสุดระบุว่า ราว 90% ของขยะในมหาสมุทรทั่วโลก เดินทางมาจากแม่น้ำใหญ่ 10 สาย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในทวีปเอเชีย

คุณคริสเตียน ชมิดท์ แห่ง Helmholtz Center for Environmental Research ในเยอรมนี กล่าวกับ VOA ว่า แม่น้ำใหญ่ทั้ง 10 สายนี้ ล้วนไหลผ่านเขตชุมชนหนาแน่น ดังนั้นการแก้ปัญหาขยะพลาสติกตามมหาสมุทรต่างๆ นั้น จึงควรมุ่งเน้นไปที่แม่น้ำทั้ง 10 สายนี้

แม่น้ำ 10 สายดังกล่าว ได้แก่ แม่น้ำคงคา และสินธุ ในอินเดีย, แม่น้ำแยงซี ไห่เหอ จูเจียง และแม่น้ำเหลือง ในประเทศจีน, แม่น้ำอามูร์ที่กั้นระหว่างพรมแดนจีนกับรัสเซีย, แม่น้ำโขงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมท้ัง แม่น้ำไนล์ และไนเจอร์ ในอาฟริกา

นักวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลขยะพลาสติกในแม่น้ำแหล่านี้ และพบว่าการลดปริมาณขยะในแม่น้ำเหล่านี้ลง จะสามารถช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกในมหาสมุทรต่างๆ ทั่วโลกได้

คุณชมิดท์ กล่าวว่า วิธีลดขยะพลาสติกนั้น ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพของระบบกำจัดขยะมูลฝอยในประเทศกำลังพัฒนาที่แม่น้ำนั้นไหลผ่าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัวรวดเร็ว รวมทั้งการรณรงค์ให้ประชาชนหยุดทิ้งขยะลงในแม่น้ำลำคลองต่างๆ ด้วย

เมื่อไม่นานนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบแพขยะพลาสติกขนาดใหญ่พอๆ กับเกาะหนึ่งเกาะ ในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งเชื่อว่าผลกระทบด้านนิเวศน์วิทยาที่เกิดจากขยะเหล่านั้นมีมากมายมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีต่อสัตว์น้ำที่อาจกินพลาสติกขนาดเล็กที่เรียกว่า ไมโครพลาสติกเข้าไป แล้วเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร จนมาถึงมนุษย์เรา

รายงานวิจัยก่อนหน้านี้ซึ่งจัดทำโดยนักวิจัยที่มหาวิทยาลัย Ghent ในเบลเยียม ประเมินว่า มนุษย์อาจรับประทานพลาสติกขนาดเล็กจิ๋วซึ่งมาจากอาหารทะเลเข้าไปโดยไม่รู้ตัว เป็นปริมาณราว 11,000 ชิ้นต่อปี

นักวิจัยชี้ว่า ปัจจุบัน เราสามารถนำพลาสติกกลับมารีไซเคิลใหม่ได้เพียง 5% เท่านั้น นั่นหมายความว่ามีพลาสติกอีกมากกว่า 300 ล้านตันต่อปีที่ยังหลงเหลืออยู่ที่ไหนสักแห่งบนโลก และคาดว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นอีกสี่เท่าภายในปี ค.ศ. 2050 หากยังไม่มีมาตรการใดๆ ที่นำมาใช้ในการลดปัญหาขยะพลาสติกเหล่านี้

XS
SM
MD
LG