นักวิเคราะห์ชี้อุตสาหกรรมพลาสติกและบรรจุภัณฑ์เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดในทวีปเอเชีย จากความต้องการของกลุ่มคนชั้นกลาง แต่ขณะเดียวกันอาจนำมาซึ่งปัญหามลพิษในแหล่งน้ำและมหาสมุทรในภูมิภาคด้วย
นักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมของนิวซีแลนด์ แอนนา ดอว์สัน ปั่นจักรยานเป็นระยะทาง 2 พันกิโลเมตร เพื่อเก็บขยะพลาสติกรอบชายหาดฟิลิปปินส์เมื่อปีที่แล้ว เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนลดการใช้พลาสติกให้ได้มากขึ้น รวมทั้งกดดันภาครัฐบาลให้ลดการผลิตพลาสติกออกสู่ตลาด
คุณแอนนา บอกว่า ธุรกิจอาหารมีการใช้พลาสติกมากที่สุด ซึ่งควรแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ นั่นคือ การปรับพฤติกรรมการบริโภคสินค้าให้เน้นของสดใหม่ มากกว่าการซื้อของจากซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ใช้บรรจุภัณฑ์ประเภทพลาสติกเป็นจำนวนมาก
ปัญหานี้เกิดขึ้นกับหลายประเทศในเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคาร ANZ ของออสเตรเลีย ระบุว่า อุตสาหกรรมพลาสติกและบรรจุภัณฑ์เติบโตขึ้นต่อเนื่อง โดยในทวีปเอเชียตลอด 60 ปีที่ผ่านมา มีประเทศจีนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ในตลาดโลก คิดเป็นสัดส่วน 20 เปอร์เซนต์ และอีก 20 เปอร์เซนต์ก็เป็นผู้ผลิตจากกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดนั้นมาจากความต้องการพลาสติกทั่วโลก ที่เพิ่มขึ้นราว 3 เท่าตัว ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ที่มีประชากรเพิ่มขึ้น และการขยายตัวของเมือง ขณะเดียวกันตลาดผลิตสำคัญก็กระจุกตัวอยู่ในภูมิภาคนี้ โดยอุตสาหกรรมพลาสติกในเวียดนามขยายตัวถึง 18 เปอร์เซนต์ ในการผลิตและส่งออกถุงพลาสติก
สำหรับใน 10 ชาติอาเซียน ไทยครองแชมป์การใช้พลาสติกสูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ด้วยปริมาณการใช้พลาสติกต่อคนมากถึง 40 กิโลกรัมต่อปี รองลงมาคือมาเลเซีย ที่ 35 กิโลกรัมต่อคนต่อปี และอินโดนีเซีย เฉลี่ย 17 กิโลกรัมต่อคนต่อปี
การเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ ตามมาด้วยผลกระทบสิ่งแวดล้อม เมื่อข้อมูลจากวารสาร Nature Communications พบว่า มีพลาสติก 1 ล้าน 1 แสน 5 หมื่น ถึง 2 ล้าน 4 แสน 1 หมื่นเมตริกตัน ที่ถูกปล่อยสู่แหล่งน้ำทุกปี
ที่น่ากังวลกว่านั้นคือ 20 อันดับแรกของแหล่งน้ำที่พบขยะพลาสติกมากที่สุด กระจุกตัวอยู่ในเอเชีย โดยที่เลวร้ายที่สุด คือ แม่น้ำแยงซีของจีน พบขยะพลาสติกมากถึง 3 แสน 3 หมื่นตันที่จะไหลลงสู่ทะเลจีนตะวันออก
ขณะที่ผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ก็ตามมาเป็นลูกโซ่ เพราะจะมีพลาสติก 8 ล้านตันที่ถูกทิ้งลงทะเลไปทุกปีนั้น ส่งผลให้นกทะเลประมาณ 1 ล้านตัว รวมทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและปลากว่า 1 แสนตัวต้องตายทุกปี
ที่ผ่านมา หลายประเทศให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาขยะพลาสติก อย่างประเทศไทยที่มีอัตราการใช้พลาสติกมากเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน วางกลยุทธ์ 20 ปีในการแก้ปัญหาขยะพลาสติกในกรุงเทพมหานคร
แต่นักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม อย่างคุณธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซประจำประเทศไทย มองว่า รัฐบาลควรพุ่งเป้าไปที่การบริหารจัดการขยะพลาสติกที่เป็นรูปธรรมและมีเป้าหมายชัดเจนมากกว่านี้
เช่นเดียวกับ คุณเพ็ญชม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะเวศ บอกว่า นี่คือความท้าทายสำคัญของคนไทย ที่คุ้นเคยกับการใช้พลาสติกในทุกรูปแบบการใช้ชีวิต ทั้งการบรรจุอาหาร และบรรจุของใช้ในชีวิตประจำวัน ยิ่งทำให้การลดปริมาณการใช้ในทางปฏิบัติทำได้ยาก
ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมขององค์การสหประชาชาติ หรือ UN ประกาศสงครามกับมลพิษจากพลาสติก ด้วยการออกแคมเปญลดปริมาณขยะพลาสติกที่ใช้เพียงครั้งเดียวในแหล่งน้ำทั่วโลกให้ได้ภายในปี 2022