ลิ้งค์เชื่อมต่อ

'การบำบัดน้ำเสีย' หนทางกู้วิกฤตความมั่นคงทางน้ำของโลก


ระหว่างที่เรากำลังอาบน้ำชำระร่างกาย และดื่มน้ำสะอาดที่หาได้ง่าย ยังมีประชาชนทุก 1 ใน 9 คนทั่วโลก ที่ไม่ได้รับโอกาสในการเข้าถึงน้ำสะอาดได้เหมือนคุณผู้ฟัง และเป็นประเด็นสำคัญที่ภาครัฐ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และองค์กรการกุศลต่างๆ ร่วมกันหาทางแก้ไขกันที่การประชุมนานาชาติ World Water Week 2017 ภายใต้คำขวัญที่ว่า “Water and waste, reduce and reuse” ที่กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน

ในปีนี้ทุกฝ่ายได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการบำบัดน้ำเสีย และนำกลับมาใช้ใหม่ นอกเหนือจากการลดการใช้น้ำที่พยายามผลักดันกันมายาวนาน

Todd Garther จากสถาบัน World Resources บอกว่า ปัจจุบันมีน้ำเสียราว 4-5% ที่นำกลับมาใช้ใหม่ ส่วนอีก 90% เป็นน้ำที่ยังไม่ผ่านกระบวนการกรองแร่ธาตุหรือสารเคมีก่อนจะไปถึงมือผู้บริโภคได้ ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่รองรับการบำบัดน้ำให้สะอาดเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และเป็นแนวทางง่ายๆที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้มาก ซึ่งมีหลายประเทศที่เริ่มผลักดันเรื่องนี้ขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม การจัดการน้ำเสีย ไม่เพียงแต่ช่วยให้เรามีน้ำสำหรับการบริโภคที่เพียงพอแล้ว ยังช่วยลดปริมาณน้ำเสียที่จะไหลลงสู่แม่น้ำ ลำธาร หรือมหาสมุทรด้วย เพราะ 80% ของน้ำเสียทั่วโลกยังไม่ได้รับการบำบัด และมีโอกาสไหลลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ

นอกเหนือจากการบำบัดน้ำเสียแล้ว Sarah Feakins อาจารย์จาก University of Southern California มองว่า เราบริโภคน้ำสะอาดมากเกินกว่าที่ผลิตได้ โดยเฉพาะในภาคการเกษตร ซึ่งจำเป็นต้องปรับปรุงการใช้น้ำอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบัน World Resources ย้ำถึงการสร้างความมั่นคงทางน้ำทั่วโลก ที่ทุกฝ่ายจะต้องยอมรับว่านี่เป็นปัญหาจริงๆ และต้องผลักดันการเข้าถึงน้ำสะอาดให้เทียบเท่ากับสิทธิมนุษยชน ที่ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน

ขณะที่การบริหารจัดการน้ำต้องผสมผสานวิถีดั้งเดิม ตั้งแต่การปลูกป่าที่เป็นแหล่งต้นน้ำ ซ่อมแซมท่อส่งน้ำ รวมทั้งเพิ่มเทคโนโลยีแยกเกลือออกจากน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน เพื่อส่งเสริมการใช้น้ำอย่างยั่งยืน

XS
SM
MD
LG