เมื่อ 8 ปีก่อน ยูกันดาสั่งห้ามผู้ประกอบการโรงงาน ธุรกิจนำเข้า และจำหน่ายสินค้า ในการใช้ถุงพลาสติกที่มีความบางกว่า 30 ไมครอน เพื่อหวังให้ปริมาณการใช้พลาสติกในประเทศลดลง แต่มาจนถึงวันนี้ ทั่วหัวระแหงในกรุง Kampala เมืองหลวง ยังคงพบขยะพลาสติกเกลื่อนเมือง
Naome Karekaho ตัวแทนหน่วยงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมของยูกันดา บอกว่า ภาครัฐพยายามเจรจากับผู้ผลิตถุงพลาสติกในท้องถิ่นครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ดูเหมือนจะไม่เป็นผล เพราะผู้คนที่นี่ยังมีความต้องการใช้ถุงพลาสติก ที่คนท้องถิ่นเรียกว่า Kaveera ทำให้ธุรกิจเหล่านี้ทุ่มทุนในการผลิตถุงพลาสติกต่อเนื่อง ซึ่งทุกครั้งที่พยายามหาข้อตกลงกัน ก็จะมีข้อถกเถียงที่ตามมาถึงปากท้องของคนงาน การดำเนินกิจการพลาสติกเพื่อความอยู่รอด ทั้งที่สิ่งสำคัญที่ควรใส่ใจ คือ ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะตามมา
ตอนนี้ เคนยาเป็นประเทศล่าสุดในทวีปแอฟริกาที่บังคับใช้กฏหมายห้ามใช้ถุงพลาสติกตามหลังยูกันดา ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจนำเข้าถุงพลาสติกท้องถิ่นโดยตรง แต่ในยูกันดา มีเป้าหมายที่ต่างกัน โดยได้เปลี่ยนจากห้ามผลิตถุงพลาสติกบางชนิด ให้เป็นการรีไซเคิลหรือนำกลับมาใช้ใหม่แทน
แต่ในมุมมองของผู้ประกอบการที่ปรับตัวตามกฏหมายของยูกันดา พบว่า รัฐบาลไม่บังคับใช้กฏหมายอย่างเต็มที่เพียงพอ
Moses Ategeka ตัวแทนจากสมาคมผู้ประกอบการและรีไซเคิลพลาสติกยูกันดา บอกว่า กฏหมายห้ามใช้ถุงพลาสติกในยูกันดา มีผลกระทบต่อปริมาณพลาสติกเพียงแค่ 10% ของพลาสติกที่วางขายในท้องตลาดเท่านั้น และนั่นคือความสูญเสียครั้งใหญ่ เพราะมีพลาสติกหลายชนิดที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ เช่น พลาสติกห่ออาหาร ที่นำมาใช้ได้อย่างไม่ผิดกฏหมาย
ขณะที่ผู้ประกอบการบางราย พยายามพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในการรักษาสิ่งแวดล้อมและสร้างผลกำไรไปพร้อมกัน อย่าง Sharon Ninsiima ที่เริ่มต้นธุรกิจถุงกระดาษจากต้นกล้วย ซึ่งสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ
Sharon บอกว่า ความท้าทายสำคัญ คือ ราคาของถุงกระดาษที่แพงกว่าถุงพลาสติกทั่วไปถึง 10 เท่า เพราะถุงกระดาษของเธอราคาเฉลี่ยถุงละ 2-3 พัน ยูกันดาชิลลิ่ง ซึ่งต่างจากราคาถุงพลาสติกทั่วไปที่อยู่ที่ 300 ยูกันดาชิลลิ่ง แต่ในแง่ของความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถุงกระดาษของเธอนั้นเหนือกว่าทุกด้าน
การเคลื่อนไหวเหล่านี้ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงของผู้คนบ้างแล้ว โดยเจ้าของร้านค้าท้องถิ่น Seregio Naturinda บอกว่า ผู้คนในยูกันดาเริ่มเข้าใจและหันมาซื้อถุงกระดาษแทนถุงพลาสติกกันมากขึ้น ซึ่งทำให้ธุรกิจเริ่มมีรายได้เข้ามาและดำเนินไปได้ในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ