ลิ้งค์เชื่อมต่อ

‘ปูติน-คิม’ ลงนามสนธิสัญญาใหม่ ยกระดับสัมพันธ์หมีขาว-โสมแดงแนบแน่น


ปธน.วลาดิเมียร์ ปูตินแห่งรัสเซีย และผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ คิม จอง อึน ถ่ายภาพในพิธีลงนามสนธิสัญญาร่วมกัน ที่กรุงเปียงยาง เกาหลีเหนือ 19 มิ.ย. 2024 (Sputnik/Kristina Kormilitsyna/Kremlin via REUTERS)
ปธน.วลาดิเมียร์ ปูตินแห่งรัสเซีย และผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ คิม จอง อึน ถ่ายภาพในพิธีลงนามสนธิสัญญาร่วมกัน ที่กรุงเปียงยาง เกาหลีเหนือ 19 มิ.ย. 2024 (Sputnik/Kristina Kormilitsyna/Kremlin via REUTERS)

เกาหลีเหนือและรัสเซียลงนามสนธิสัญญาฉบับใหม่ ที่มีเงื่อนไขด้านกลาโหมร่วมกัน ตามการเปิดเผยของผู้นำรัฐบาลมอสโกและเปียงยางในวันพุธ ระหว่างการเยือนเกาหลีเหนือของประธานาธิบดีรัสเซียครั้งแรกในรอบ 24 ปี

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย และคิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ลงนามใน "สนธิสัญญาความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์รอบด้าน" ถือเป็นการยกระดับความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างเกาหลีเหนือและรัสเซีย นับตั้งแต่รัสเซียส่งทหารรุกรานยูเครนเมื่อปี 2022

เนื้อหาของข้อตกลงดังกล่าวยังไม่ได้รับการเผยแพร่ออกมา แต่หลังจากการลงนาม ปูตินได้กล่าวว่าข้อตกลงนี้มีเงื่อนไขที่ “จัดหาความช่วยเหลือร่วมกันในกรณีที่มีการรุกรานกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง” อ้างอิงจากสื่ออินเตอร์แฟกซ์ของรัสเซีย

ท่าทีดังกล่าวถือเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายของรัสเซียต่อเกาหลีเหนืออย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจรวมถึงโอกาสในการฟื้นฟูสนธิสัญญาที่ยกเลิกไปตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต

หลังพิธีลงนามระหว่างสองผู้นำ คิม ได้กล่าวว่าความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติได้ยกระดับขึ้นไปถึงจุดที่เป็น “พันธมิตร” แม้ว่าปูตินจะไม่ได้ใช้คำดังกล่าวในการแสดงความเห็นต่อสาธารณะเกี่ยวกับเกาหลีเหนือก็ตามที

การกระชับสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างโสมแดงและแดนหมีขาว สั่นคลอนชาติตะวันตก ที่ออกโรงประณามความร่วมมือระหว่างสองชาติว่าละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ โดยทางการสหรัฐฯ กล่าวหาเกาหลีเหนือว่าจัดหาอาวุธให้รัสเซียเพื่อใช้ในสงครามยูเครน

การลงนามสนธิสัญญารัสเซีย-เกาหลีเหนือครั้งนี้สร้างความประหลาดใจให้กับผู้สังเกตการณ์หลายฝ่าย ที่คาดหมายว่าการยกระดับความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างสองชาติในระดับที่เป็นพันธมิตรกันนั้นจะไม่เกิดขึ้นในโอกาสนี้

รามอน พาเชโก พาร์โด ผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลี และอาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจาก King's College London ให้ทัศนะกับวีโอเอว่า “คิม จอง อึน สามารถดึงเอาผลประโยชน์มาได้มากกว่าที่เราคิดว่าเขาจะสามารถทำได้จากการสนับสนุนรัสเซียในการรุกรานยูเครน”

ท่าทีดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นความพยายามในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ในยุคสหภาพโซเวียตระหว่างรัฐบาลมอสโกกับรัฐบาลเปียงยาง แม้ว่านักวิเคราะห์บางส่วนยังไม่เชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างสองชาตินั้นขยับไปถึงจุดนั้น

พาเชโก พาร์โด เสริมว่า “เห็นได้ชัดว่า มันเป็นการพัฒนาที่มีความสำคัญ แต่เราต้องจับตาความสัมพันธ์นี้ว่าเดินหน้าไปอย่างแข็งแกร่งในอีกหลายปีข้างหน้า ก่อนที่จะบอกได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์นี้จริง ๆ ”

สัมพันธ์รัสเซีย-เกาหลีเหนือยกระดับใกล้ชิดแค่ไหน?

ในช่วงหลายปีมานี้ รัสเซียและเกาหลีเหนือมีจุดยืนร่วมกัน ในช่วงที่ความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกถดถอย แต่ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกันนั้นเผชิญกับความตึงเครียดมาโดยตลอด

อย่างเมื่อปี 2017 รัสเซียสนับสนุนมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ในการตอบโต้โครงการอาวุธนิวเคลียร์ที่ผิดกฎหมายของเกาหลีเหนือ แต่ตอนนี้รัสเซียคัดค้านมาตรการลงโทษดังกล่าว โดยปูตินได้กล่าวเมื่อวันพุธว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “การเผชิญหน้ากับนโยบายสหรัฐฯ”

ขณะที่ความสัมพันธ์ตามสนธิสัญญาระหว่างรัสเซียและเกาหลีเหนือก็มีช่วงสะดุดมาก่อนเหมือนกัน

อย่างเมื่อปี 1961 เกาหลีเหนือและสหภาพโซเวียตลงนามสนธิสัญญาที่มีบทบัญญัติสำหรับการแทรกแซงทางทหารในกรณีฉุกเฉิน แต่ยกเลิกไปในช่วงการล่มสลายของสหภาพโซเวียต

ทั้งสองชาติกลับมาลงนามสนธิสัญญากันใหม่ในปี 2000 แต่ได้มุ่งเน้นด้านเศรษฐกิจมากกว่าการทหาร ซึ่งทางการรัสเซียระบุว่าเอกสารฉบับล่าสุดนี้จะมาแทนที่ฉบับเก่าเมื่อ 24 ปีก่อน

คิม กันน์ ผู้แทนพิเศษของเกาหลีใต้ฝ่ายกิจการสันติภาพและความมั่นคงคาบสมุทรเกาหลี ประณามการลงนามสนธิสัญญาล่าสุดนี้ ซึ่งเขากล่าวว่า “เป็นอันตรายต่อสันติภาพและเสถียรภาพของคาบสมุทรเกาหลี”

แต่ในการคำนวณของคิม ท่าทีดังกล่าวมุ่งเป้าเสริมสร้างภาพแห่งความเป็นพันธมิตรมากกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริง กันน์ กล่าวกับวีโอเอว่า “อย่าตระหนกตกใจกับฉากหน้าของการพบปะกันครั้งนี้ เพราะนั่นคือสิ่งที่พวกเขาต้องการให้เกิดขึ้น”

จับตาสาระสำคัญในข้อตกลง

หากรายละเอียดของข้อตกลงมีการเผยแพร่ออกมาอย่างเป็นทางการ นักวิเคราะห์จะจับตาเนื้อหาสาระและถ้อยความในสนธิสัญญาใหม่ระหว่างปูตินและคิมอย่างใกล้ชิดชนิดบรรทัดต่อบรรทัด

นอกเหนือจากเกาหลีเหนือแล้ว รัสเซียมีการลงนามความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์รอบด้าน ซึ่งเป็นระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสูงสุด กับประเทศต่าง ๆ รวมทั้ง เวียดนาม มองโกเลีย และหลายประเทศในเอเชียกลาง อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกความสัมพันธ์จะถูกเรียกว่าพันธมิตร

เมสัน ริชีย์ อาจารย์ด้านการต่างประเทศจาก Hankuk University ในเกาหลีใต้ ให้ทัศนะกับวีโอเอว่า “ภาษามีความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ ในแง่ของข้อผูกพันและเงื่อนไขเฉพาะที่มีขึ้น” และว่า “ความช่วยเหลือร่วมกันในกรณีที่มีเหตุโจมตีอาจกล่าวได้ว่าเป็นพันธมิตร”

แต่ริชีย์ ได้ตั้ง “คำถามที่จริงจังอีกมาก” เกี่ยวกับความเป็นพันธมิตรที่ชัดเจนระหว่างรัสเซียและเกาหลีเหนือ “โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังสงครามเย็น รัสเซียมีประวัติที่ไม่แน่นอนในการสนับสนุนพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ของตน” โดยเขาอธิบายว่า “เกาหลีเหนืออาจต้องประเมินสิ่งที่เกิดขึ้นกับอาร์เมเนียในสงครามกับอาร์เซอร์ไบจาน” ซึ่งรัสเซียไม่ได้ช่วยเหลือพันธมิตรของตนเท่าใดนัก

เมื่อวีโอเอสอบถาม จอร์จีย์ โทโลรายา อดีตนักการทูตรัสเซีย เกี่ยวกับพัฒนาการด้านสนธิสัญญาเกาหลีเหนือ-รัสเซีย เ­ขามองว่าข้อตกลงนี้ “สื่อถึงสิ่งที่เรียกว่า ... nuclear umbrella (ระบบป้องกันระเบิดปรมาณู)”

มาช้าแต่มาชัด

การลงนามสนธิสัญญาเมื่อวันพุธ เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่วุ่นวายของปูติน ที่เดินทางถึงกรุงเปียงยางในเวลาราว 03.00 น.ของวันพุธ ซึ่งช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่เขายังคงได้รับการสวมกอดต้อนรับจากคิมซึ่งยืนรอที่บริเวณพรมแดงซึ่งปูติดกับเครื่องบินของปูติน

ผู้นำรัสเซียได้รับการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ที่จัตุรัสคิม อิล ซุง โดยมีประชาชนเกาหลีเหนือรอต้อนรับ ก่อนการหารือทวิภาคี และในช่วงบ่ายวันพุธ ปูตินได้มอบรถลีมูซีน Aurus ที่ผลิตโดยรัสเซีย ซึ่งถือเป็นรถหรูคันที่ 2 ที่ปูตินมอบให้คิมในช่วงหลายเดือนมานี้ ซึ่งสื่อรัสเซียรายงานว่าผู้นำคิมไม่พลาดที่พาปธน.ปูติน ขึ้นลีมูซีนเปิดหลังคา ทัวร์แลนด์มาร์คในเกาหลีเหนือในโอกาสนี้

หลังจากการเยือนเกาหลีเหนือ ปูตินมีกำหนดการเยือนกรุงฮานอยในวันพุธ ซึ่งถือเป็นจุดหมายปลายทางที่ 2 ในการเยือนต่างประเทศของเขาในรอบนี้

  • ที่มา: วีโอเอ

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG