ลิ้งค์เชื่อมต่อ

 
นักวิเคราะห์เชื่อ แผนเยือนเกาหลีเหนือของ ‘ปูติน’ เป็นมากกว่า ‘การทักทายฉันท์มิตร’

นักวิเคราะห์เชื่อ แผนเยือนเกาหลีเหนือของ ‘ปูติน’ เป็นมากกว่า ‘การทักทายฉันท์มิตร’


คิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ และปธน.วลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย
คิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ และปธน.วลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย

เมื่อครั้งที่ คิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ เยือนรัสเซียในเดือนกันยายนของปีที่แล้ว ภารกิจหลัก ๆ ของผู้นำโสมแดงนั้นดูชัดเจนมาก และนั่นก็คือ การสอดส่องเดินดูว่ารัสเซียมีอาวุธอะไรอยู่ในคลังให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

ในการเดินทางครั้งนั้นที่มีการประโคมข่าวออกมาทั้งก่อนและระหว่างการเยือนมากมาย มีภาพของ คิม ปีนขึ้นไปยังห้องนักบินของเครื่องบินรบที่ทันสมัยที่สุดของรัสเซีย และภาพการตรวจดูเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ที่มีความสามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ได้และการเดินทัวร์เรือรบในกองเรือแปซิฟิกของมอสโกด้วย

นอกจากนั้น ปธน.ปูติน ยังทำหน้าที่ไกด์ส่วนตัวพา คิม ชมศูนย์วอสตอชนี คอสโมโดรม (Vostochny cosmodrome) ซึ่งเป็นฐานปล่อยยานอวกาศที่ทันสมัยที่สุดของประเทศ พร้อม ๆ กับออกปากว่า รัสเซียจะช่วยเกาหลีเหนือสร้างดาวเทียมด้วย

แฟ้มภาพ: ปธน.วลาดิเมียร์ ปูติน และ คิม จอง อึน เยี่ยมชมแท่นปล่อยจรวดระหว่างเยือนศูนย์วอสตอชนี คอสโมโดรม เมื่อ 13 ก.ย. 2566 (AP)
แฟ้มภาพ: ปธน.วลาดิเมียร์ ปูติน และ คิม จอง อึน เยี่ยมชมแท่นปล่อยจรวดระหว่างเยือนศูนย์วอสตอชนี คอสโมโดรม เมื่อ 13 ก.ย. 2566 (AP)

และแม้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสองผู้นำจะตอกย้ำความสัมพันธ์ทางการทหารที่ยกระดับขึ้น ในการพบกันครั้งนั้น ไม่มีการลงนามในข้อตกลงใด ๆ เลย ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้เฝ้าสังเกตการณ์แปลกใจไม่น้อย

แต่การเดินทางไปเกาหลีเหนือครั้งแรกในรอบ 24 ของปูตินในระหว่างวันที่ 18-19 มิถุนายนนี้ นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า สองผู้นำน่าจะมีการทำให้การยกระดับความสัมพันธ์มีความเป็นทางการมากขึ้นโดยเฉพาะในด้านความร่วมมือทางทหาร

อเล็กเซ มูราเวียฟ ที่เชี่ยวชาญด้านการศึกษาเชิงยุทธศาสตร์และความมั่นคงแห่งชาติที่มหาวิทยาลัยเคอร์ติน (Curtin University) ที่ออสเตรเลีย คาดว่า การพบกันครั้งนี้ของปูตินและคิมน่าจะเป็นมากกว่าการพบปะทักทาย และน่าจะมีอะไรเป็นทางการออกมาด้วย

ก่อนที่จะมีการประกาศกำหนดวันเดินทางของปูตินอย่างเป็นทางการออกมา ผู้แทนการทูตอาวุโสของสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ยกหูคุยฉุกเฉินเกี่ยวกับประเด็นนี้ โดยข้อมูลจากรัฐบาลกรุงโซลระบุว่า ทั้งสองฝ่ายเชื่อว่า การเยือนของผู้นำมอสโกไม่น่าจะถือเป็นการละเมิดมติใด ๆ ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่มีเนื้อหาห้ามประเทศต่าง ๆ เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการทหารกับเปียงยาง

ความสัมพันธ์ลุ่ม ๆ-ดอน ๆ

เป็นเวลานานนับทศวรรษแล้วที่รัสเซียเป็นผู้สนับสนุนทางทหารและเศรษฐกิจรายสำคัญของเกาหลีเหนือ เช่นเดียวกับจีน แต่ความสัมพันธ์ของทั้งสองมีทั้งขึ้นและลงเป็นระยะ ๆ

อย่างเช่นกรณีเมื่อปี 2017 ที่รัสเซียในฐานะสมาชิกถาวรที่มีสิทธิ์วีโต้ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ออกเสียงสนับสนุนมาตรการลงโทษจากนานาชาติต่อการที่เกาหลีเหนือเดินหน้าโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

แต่หลังจากนั้นมา ปูตินและคิมกลับเริ่มมีเหตุผลที่จะใกล้ชิดกันมากขึ้น โดยเหตุผลหลัก ๆ ก็คือ การรับมือกับแรงต้านจากชาติตะวันตก

และหลังจาก คิม จอง อึน กลับหลังและไม่สนใจที่จะเดินหน้าคุยกับสหรัฐฯ เมื่อปี 2019 ผู้นำกรุงเปียงยางสั่งเดินหน้าขยายคลังอาวุธนิวเคลียร์อย่างหนัก โดยบอกว่า มีจุดประสงค์เพื่อป้องปรามสหรัฐฯ และพันธมิตรอื่น ๆ ของกรุงวอชิงตันที่อยู่ในภูมิภาคเอเชีย

ขณะเดียวกัน ปูติน สั่งกองทัพรุกรานยูเครนเมื่อต้นปี 2022 ก่อนจะต้องรับมือกับกองทัพกรุงเคียฟที่ชาติตะวันตกหนุนหลังมาโดยตลอด

และไม่นานหลังเปิดฉากรุกรานยูเครน คิม จอง อึน ก็กลายมาเป็นหนึ่งในผู้นำไม่กี่คนที่สนับสนุนรัสเซียในปฏิบัติการนี้

ผู้สังเกตการณ์อิสระพบว่า มีอาวุธหลายอย่างจากเกาหลีเหนือ เช่น ขีปนาวุธ ในสนามรบสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันความเชื่อของรัฐบาลสหรัฐฯ ว่า กรุงเปียงยางเป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านอาวุธแก่กรุงมอสโก

พัฒนาการดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับท่าทีของรัสเซียที่แข็งกร้าวขึ้นเรื่อย ๆ ในการดำเนินงานต่าง ๆ ซึ่งชัดเจนว่าละเมิดมาตรการลงโทษทั้งหลายของยูเอ็นที่มอสโกกลับใจมาประกาศจุดยืนคัดค้านแล้ว

การเยือนเปียงยางของปูตินจะนำมาซึ่งอะไร

ในครั้งนี้ หลายฝ่ายเชื่อว่า ปูตินจะใช้ความระมัดระวังในการมีปฏิสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ และไม่น่าจะทำการใด ๆ ที่เป็นการละเมิดมติลงโทษกรุงเปียงยางของยูเอ็นอย่างชัดเจน เพราะมอสโกยังคงพยายามแสดงตนว่า เป็นผู้มีบทบาทในเวทีโลกที่เคารพกฎหมายระหว่างประเทศอยู่ ตามความเห็นของ อเล็กเซ มูราเวียฟ จากมหาวิทยาลัยเคอร์ติน ในออสเตรเลีย

อย่างไรก็ดี มูราเวียฟ กล่าวว่า รัสเซียอาจ “ยกนิ้วกลางใส่ชาติตะวันตก” ด้วยการค่อย ๆ ลดระดับการลงโทษเกาหลีเหนือตามมติยูเอ็นลงเรื่อย ๆ และว่า “รัสเซียนั้นกำลังเผชิญมาตรการลงโทษมากมายยิ่งกว่าเกาหลีเหนืออยู่ ดังนั้น หากรัสเซียละเมิดนโยบายลงโทษจากนานาชาติ รัสเซียจะมีอะไรให้เสียไปกว่าที่เสียอยู่แล้วจากการรุกรานยูเครนอีกหรือ”

อีกประเด็นหนึ่งที่มีการคาดการณ์กันก็คือ การที่ปูตินจะใช้โอกาสเยือนเกาหลีเหนือตอกย้ำจุดยืนการสนับสนุนโครงการพัฒนาดาวเทียมของกรุงโซลด้วย

นับตั้งแต่ คิม จอง อึน เยือนรัสเซียเมื่อ 9 เดือนก่อน เกาหลีเหนือทำการทดสอบปล่อยดาวเทียมไปแล้ว 2 ครั้ง แม้ครั้งล่าสุดจะประสบความล้มเหลวก็ตาม โดยนักวิเคราะห์ด้านกลาโหมกล่าวว่า การที่เกาหลีเหนือใช้ระบบจรวดขนส่งแบบใหม่ในโครงการนี้ชี้ให้เห็นว่า รัสเซียคือผู้ให้การสนับสนุนอยู่

และถึงแม้มาตรการลงโทษของยูเอ็นจะเป็นปัจจัยสำคัญในการจำกัดความร่วมมือระหว่างรัสเซีย-เกาหลีเหนืออยู่ ทั้งสองประเทศอาจหาทางประสานความร่วมมือทางเศรษฐกิจผ่านนโยบายต่าง ๆ เช่น การส่งแรงงานเกาหลีเหนือไปรัสเซีย เป็นต้น อ้างอิงความเห็นของ อาร์เทียม ลูคิน ศาสตราจารย์จาก Far Eastern Federal University ในรัสเซีย

ลูคิน บอกกับ วีโอเอ ว่า “รัสเซียไม่เคยบอกว่า จะหยุดปฏิบัติตามมาตรการลงโทษของคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นต่อเกาหลีเหนือ แต่รู้ไหม มันมีวิธีหลบเลี่ยงได้เสมอ ดูอย่างจีนสิ” และว่า “ผมคิดว่า รัสเซียอาจทำตามแบบอย่างเดียวกันนี้บ้างแล้ว”

อย่างไรก็ตาม ลูคิน ปฏิเสธที่จะคาดการณ์ว่า รัสเซียจะเดินหน้าให้การสนับสนุนโครงการพัฒนาอาวุธของเกาหลีเหนืออย่างไร แต่ยอมรับว่า รัสเซีย “น่าจะเป็นมหาอำนาจประเทศเดียวที่สามารถจัดหาสิ่งต่าง ๆ ที่จะช่วยให้เกาหลีเหนือรู้สึกปลอดภัยขึ้นได้”

ศาสตราจารย์ท่านนี้ยังชี้ด้วยว่า การจะสรุปว่าความร่วมมือระหว่างรัสเซียและเกาหลีเหนือนั้นจะยืนยงยาวนานกว่าสงครามในยูเครนอยู่ไม่นั้นเป็นไม่ได้เลย แต่ก็กล่าวว่า ผลประโยชน์ระยะยาวยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดทิศทางเรื่องนี้อยู่ โดยไม่มีใครรู้ว่า การร่วมมือกันนี้จะแปรเปลี่ยนไปเป็นความเป็นพันธมิตรอย่างแท้จริงในที่สุดได้หรือไม่

  • ที่มา: วีโอเอ

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG