เมื่อวันศุกร์ รัฐบาลทั่วโลกมีท่าทีต่อเชื้อโคโรนาไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่ที่พบในแอฟริกาใต้ รวมถึงสหภาพยุโรป หรือ อียู และอังกฤษที่กลับมาคุมชายแดนขึ้นอีกครั้ง ขณะที่นักวิจัยกำลังสืบค้นอยู่ว่าไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่นี้ดื้อวัคซีนหรือไม่ ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์
อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกเตือนว่า ประเทศต่างๆ ไม่ควรตัดสินใจแบบปัจจุบันทันด่วนต่อไวรัสตัวใหม่นี้มากเกินไป เนื่องจากต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ถึงจะทราบว่าวัคซีนสามารถป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่นี้ได้มากเพียงใด
ท่าทีจากองค์การอนามัยโลกมีขึ้นไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่อังกฤษสั่งห้ามสายการบินจากแอฟริกาใต้และประเทศเพื่อนบ้านเดินทางเข้าประเทศ และขอให้ผู้ที่เดินทางจากกลุ่มประเทศดังกล่าวให้กักตัว
นายโจ ฟาห์ลา รัฐมนตรีสาธารณสุขของแอฟริกาใต้ ระบุว่าการห้ามเดินทางดังกล่าว “ไม่ยุติธรรม” แม้เขาจะกล่าวเช่นกันว่า ผลการศึกษาเบื้องต้นระบุว่าไวรัสตัวใหม่นี้อาจแพร่ระบาดได้ง่ายกว่าเดิม
นางเออร์ซูลา วอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ระบุว่า อียูตั้งเป้าห้ามสายการบินจากภูมิภาคดังกล่าวเข้าประเทศชั่วคราวจนกว่าจะมีข้อมูลเพิ่มเติมถึงอันตรายของไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่นี้ ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่น อินเดีย ญี่ปุ่น และอิสราเอล ก็ยกระดับการควบคุมชายแดนเช่นกัน
ทางด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็ออกคำสั่งห้ามผู้เดินทางจากแปดประเทศในทวีปแอฟริกาทางตอนใต้เข้าปรเทศเช่นกัน เว้นแต่หากผู้เดินทางมีสัญชาติอเมริกันหรือเป็นผู้มีถิ่นพำนักถาวรในสหรัฐฯ
ข่าวการพบไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่ทำให้หุ้นและราคาน้ำมันทั่วโลกร่วงลง 10 เปอร์เซ็นต์ จากความกังวลที่ว่าการยกระดับการควบคุมจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในทวีปแอฟริกาตอนใต้ที่ได้รับผลกระทบมาก่อนหน้านี้แล้ว
สำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพของอังกฤษระบุว่า ไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่นี้มีลักษณะหนามโปรตีนที่แตกต่างจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์เดิมที่เป็นไวรัสพื้นฐานในการผลิตวัคซีน ทำให้เกิดความกังวลว่าวัคซีนที่มีอยู่ในขณะนี้จะมีประสิทธิผลต่อไวรัสตัวใหม่นี้เพียงใด
อย่างไรก็ตาม นายคริสเตียน ลินด์ไมเออร์ โฆษกองค์การอนามัยโลก เตือนว่า ประเทศต่างๆ ไม่ควรด่วนออกคำสั่งห้ามการเดินทางเข้าประเทศเร็วเกินไป เนื่องจากยังต้องใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์ถึงจะทราบว่าไวรัสตัวนี้ระบาดได้เร็วเพียงใด และวัคซีนจะมีประสิทธิผลต่อไวรัสนี้เพียงใด โดยขณะนี้พบเชื้อแล้วจาก 100 แห่ง
นายซาจิด จาวิด รัฐมนตรีสาธารณสุขของอังกฤษ ระบุว่า ไวรัสตัวนี้ถูกพบครั้งแรกที่ฮ่องกงจากผู้เดินทางจากแอฟริกาใต้ และเป็นไปได้ว่าไวรัสตัวนี้ระบาดไปในประเทศอื่นๆ แล้ว
นักวิทยาศาสตร์ในแอฟริกาใต้ตั้งข้อสงสัยว่า การระบาดระลอกใหม่ในประเทศอาจเชื่อมโยงกับไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่ แต่ยังไม่ชัดเจนว่าไวรัสตัวนี้ระบาดไปนอกประเทศแล้วมากน้อยเพียงใด
ทั้งนี้ เบลเยียมเป็นประเทศแรกในยุโรปที่พบไวรัสตัวใหม่ดังกล่าว หลังจากพบไวรัสก่อนหน้านี้ที่บอตสวานา อิสราเอล และฮ่องกง โดยอิสราเอลประกาศห้ามผู้เดินทางจากเกือบทั่วทวีปแอฟริกาเดินทางเข้าประเทศ ขณะที่นายกรัฐมนตรีนาฟตาลี เบนเนตต์ ระบุว่า อิสราเอลเกือบถึงจุดที่ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และจะต้องมีการดำเนินการรับมืออย่างแข็งขันเร่งด่วน
แอนวิซา (Anvisa) หน่วยงานกำกับดูแลด้านสาธารณสุขของบราซิล แนะนำให้ระงับการเดินทางจากประเทศในทวีปแอฟริกาบางส่วน อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีจาอีร์ โบลโซนาโร กลับมีท่าทีไม่ยอมรับมาตรการดังกล่าว
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขมักวิจารณ์การรับมือโรคระบาดของผู้นำบราซิล เช่น การไม่มีคำสั่งล็อคดาวน์ และเลือกไม่ฉีดวัคซีน โดยบราซิลเป็นประเทศที่มียอดผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 สูงสุดเป็นลำดับสองของโลกรองจากสหรัฐฯ
สายเกินไปที่จะห้ามเดินทางแล้วไหม?
ในช่วงสองปีที่ผ่านมานี้ มีผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสทั่วโลกแล้วเกือบ 260 ล้านคน มีผู้เสียชีวิต 5.4 ล้านคน
เบน โควลิ่ง นักระบาดวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกง ระบุว่า การสั่งห้ามเดินทางในขณะนี้อาจสายเกินไปในการรับมือไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่ เนื่องจากไวรัสอาจระบาดไปที่อื่นแล้ว
ประเทศในยุโรปต่างเพิ่มการฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์ และยกมาตรการควบคุมขณะที่ยุโรปเผชิญกับการระบาดระลอกที่สี่ และมีหลายประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อต่อวันสูงสุดเป็นสถิติใหม่
การพบไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่นี้มีขึ้นขณะที่ยุโรปและสหรัฐฯ เข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้คนรวมตัวในอาคารก่อนช่วงเทศกาลคริสต์มาส ทำให้เชื้อแพร่ระบาดได้มากกว่าเดิม
- ที่มา: สำนักข่าวรอยเตอร์