ลิ้งค์เชื่อมต่อ

มองสงครามกลางเมืองเมียนมา ผ่านสายตา บก.อาวุโส 'วีโอเอพม่า'


This photo taken on December 10, 2023 shows members of the Mandalay People’s Defense Forces (MDY-PDF) heading to the frontline. (AFP)
This photo taken on December 10, 2023 shows members of the Mandalay People’s Defense Forces (MDY-PDF) heading to the frontline. (AFP)

INTRO: ในขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้งในเมียนมาระหว่างกองทัพรัฐบาลทหารและกองกำลังพันธมิตรที่ประกอบด้วยสมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ยังดำเนินต่อไปอย่างดุเดือด เราได้ไปพูดคุยกับ จ่อ ซัน ทา บรรณาธิการอาวุโสของ วีโอเอ ภาคภาษาพม่า เพื่อทำความเข้าใจความขัดแย้งและทิศทางในอนาคต และคุณนพรัตน์ ชัยเฉลิมมงคล มีสรุปรายละเอียดมานำเสนอ

การต่อสู้ระหว่างกองทัพเมียนมาและกองกำลังพันธมิตรกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่ดำเนินมาหลายเดือน จนเข้าข่ายสงครามกลางเมือง สะท้อนภาพความขัดแย้งที่ดำเนินมาหลายทศวรรษ หลังจากที่เมียนมาประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ

จ่อ ซัน ทา (Kyaw Zan Tha) บรรณาธิการอาวุโสของ วีโอเอ ภาคภาษาพม่า ชี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้ในประเทศบ้านเกิดของเขาที่จากมาเมื่อกว่า 2 ทศวรรษก่อน คือ สถานการณ์ที่เปี่ยมไปด้วยอันตรายสำหรับประชากรเกือบทั่วทั้งประเทศ ต่างจากภาวะขัดแย้งครั้งก่อน ๆ

เขากล่าวว่า ขณะนี้เมียนมาอยู่บนปากเหวของการเป็นรัฐที่ล้มเหลว

“ประเทศตกอยู่ภาวะวุ่นวายในเวลานี้ เป็นสงครามกลางเมืองไปทั่ว ไม่ใช่เฉพาะแถบชายขอบ แต่มาถึงแถบภาคกลางที่มีการต่อสู้ไปทั่ว ดังนั้น รัฐบาลกลางควบคุมสถานการณ์ได้น้อยมาก และไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยให้กับประชาชนทั้งหมดของประเทศได้”

ความไม่สงบรอบใหม่ในเมียนมานั้นเริ่มปะทุขึ้นมา ตั้งแต่หลังกองทัพก่อรัฐประหารและยึดอำนาจการปกครองประเทศจากรัฐบาลพลเรือนที่นำโดย นาง ออง ซาน ซู จี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปี 2021 ก่อนจะเดินหน้าจับกุมผู้เห็นต่าง รวมทั้งฝ่ายตรงข้ามทั้งหมดมาโดยตลอด จนนำมาซึ่งการประท้วงเป็นจุด ๆ ทั่วประเทศและปราบปราบด้วยความรุนแรงเป็นระยะ

จ่อ ซัน ทา -- บรรณาธิการอาวุโส วีโอเอ ภาคภาษาพม่า
จ่อ ซัน ทา -- บรรณาธิการอาวุโส วีโอเอ ภาคภาษาพม่า

การกระทำของกองทัพจึงเป็นเหมือนตัวเร่งให้ประชาชนที่ต่อต้านรัฐประหารหันไปสนับสนุนกองกำลังต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา ที่ประกอบด้วยกองทัพของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต้องการอิสรภาพในการปกครองตัวเอง และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน นับเป็นปรากฏการณ์และความท้าทายต่อกองทัพอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

บรรณาธิการอาวุโส วีโอเอ ภาคภาษาพม่า อธิบายว่า “ทุกคนจึงต้องการโค่นกองทัพ นั่นคือเหตุผลที่ว่า ทำไมการต่อสู้จึงแผ่ขยายไปทั่ว ไม่ใช่เฉพาะในหมู่ชนกลุ่มชาติพันธุ์ แต่แม้แต่ชาวพม่าเองที่เข้าร่วมต่อสู้กับรัฐบาลทหาร นั่นจึงเป็นความแตกต่างระหว่างเมื่อ 70 ปีก่อนและเวลานี้”

ภาพที่บันทึกไว้เมื่อ 10 ธ.ค. 2566 แสดงให้เห็นสมาชิกกองกำลังพิทักษ์ประชาชนมัณฑะเลย์ ขณะเตรียมยิงอาวุธหนักใกล้ ๆ แนวหน้าของการสู้ปะทะกับกองทัพเมียนมา ในรัฐฉาน
ภาพที่บันทึกไว้เมื่อ 10 ธ.ค. 2566 แสดงให้เห็นสมาชิกกองกำลังพิทักษ์ประชาชนมัณฑะเลย์ ขณะเตรียมยิงอาวุธหนักใกล้ ๆ แนวหน้าของการสู้ปะทะกับกองทัพเมียนมา ในรัฐฉาน

จ่อ ซัน ทา ชี้ว่า ความพ่ายแพ้ไปทั่วสร้างความระส่ำระส่ายให้กองทัพ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในระดับผู้บังคับบัญชา และทำให้ทหารเสียขวัญอย่างหนัก นอกจากนั้น การที่รัฐบาลทหารประกาศเกณฑ์ชายหนุ่มอายุตั้งแต่ 18 ถึง 32 ปี ให้ต้องเข้ามาช่วยรบ ยังแสดงให้เห็นว่า กองทัพเมียนมากำลังขาดกำลังอย่างมาก และเป็นมาตรการที่ผลักดันให้ผู้คนหนีออกนอกประเทศ หรือเข้าไปอยู่กับฝ่ายต่อต้าน

จ่อ มองว่า การสู้รบในเมียนมาเป็นสถานการณ์ที่ยังต้องจับตาดูต่อไป และยากที่จะคาดการณ์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า การเสียการควบคุมในเมียวดีและเมืองอื่น ๆ แสดงให้เห็นการเพลี่ยงพล้ำของกองทัพก็จริง แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ติดตามสถานสถานการณ์ความขัดแย้งก็จับตาดูว่า กองกำลังต่อต้านรัฐบาลทหารจะมีความเข้มแข็งและรักษาเอกภาพไปได้นานแค่ไหน

ผู้สื่อข่าว วีโอเอ ภาคภาษาไทย นพรัตน์ ชัยเฉลิมมงคล ขณะพูดคุยกับ จ่อ ซัน ทา บรรณาธิการอาวุโส วีโอเอ ภาคภาษาพม่า
ผู้สื่อข่าว วีโอเอ ภาคภาษาไทย นพรัตน์ ชัยเฉลิมมงคล ขณะพูดคุยกับ จ่อ ซัน ทา บรรณาธิการอาวุโส วีโอเอ ภาคภาษาพม่า

บรรณาธิการอาวุโส วีโอเอพม่า กล่าวว่า “ที่ผ่านมากว่า 70 ปีนับตั้งแต่การประกาศอิสรภาพของเมียนมา กองทัพมีความเชื่ออยู่ในใจลึก ๆ ว่า พวกเขาคือองค์กร คือสถาบันที่จะสามารถรวมชาติไว้ได้ นั่นเป็นความเข้าใจที่หยั่งรากฝังลึกในใจของกองทัพมานาน นั่นเป็นประเด็นที่ยาก ยากมาก ๆ ที่จะลบล้างไปให้หมดสิ้น ดังนั้น ก็คงต้องปราบกองทัพให้ราบคาบเท่านั้น”

เขากล่าวด้วยว่า การที่จีนและรัสเซียอยู่เบื้องหลังและให้การสนับสนุนกองทัพเมียนมา พร้อมจัดหายุทโธปกรณ์ให้ คือ ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลทหารชุดนี้จะยังควบคุมอำนาจการปกครองต่อไปได้ โดยตราบใดที่รัสเซียยังคงหนุนอยู่ กองทัพเมียนมาไม่มีทางจะแพ้อย่างง่ายดาย แม้จะเผชิญการต่อต้านรุนแรงก็ตาม

ชาวเมียนมาข้ามแม่น้ำเมยจากเมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา มายังอำเภอแม่สอด เมื่อ 20 เม.ย. 2024
ชาวเมียนมาข้ามแม่น้ำเมยจากเมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา มายังอำเภอแม่สอด เมื่อ 20 เม.ย. 2024

เมื่อถามถึงบทบาทของสหรัฐฯ ในการสร้างเสถียรภาพให้เมียนมา บรรณาธิการอาวุโอ วีโอเอพม่า ให้สัมภาษณ์ว่า “รัฐบาลสหรัฐฯ เองก็ยังวุ่นวายกับเรื่องอื่น ๆ อยู่ เรื่องที่ดูสำคัญกว่า เช่น ยูเครน ตะวันออกกลาง กาซ่า อิสราเอล ดังนั้น เรื่องของเมียนมาอาจอยู่ที่ลำดับล่าง ๆ (แต่) หากอเมริกาและจีนสามารถตกลงกันในบางเรื่องเกี่ยวกับพม่าได้ นั่นก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก ให้เมียนมามีสันติและความมั่นคงอีกครั้ง”

เขามองว่า การสู้รบและความไม่สงบที่จะดำเนินต่อไป เป็นการแสดงออกในเชิงยุทธศาสตร์ถึงความไม่พอใจที่สะสมมานาน แต่ในท้ายที่สุดแล้ว สันติในเมียนมาจะเกิดขึ้นได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความเต็มใจและความสามารถของกองทัพที่จะแก้ปัญหาการเมือง ที่เป็นบ่อเกิดของปัญหาทั้งหมด

  • ที่มา: วีโอเอ

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG