ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เมียนมาอ่วมพิษเงินจ๊าดอ่อนหนัก-ราคาสินค้าพุ่ง


(แฟ้ม) ภาพแสดงให้เห็นธนบัตรเงินจ๊าดเมียนมา ในนครย่างกุ้ง 30 พ.ค. 2024 (Photo by AFP)
(แฟ้ม) ภาพแสดงให้เห็นธนบัตรเงินจ๊าดเมียนมา ในนครย่างกุ้ง 30 พ.ค. 2024 (Photo by AFP)

ชาวเมียนมาเผชิญวิกฤตซ้อนวิกฤต หลังค่าเงินจ๊าดของเมียนมาอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว ดันราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ทั้งอาหารและยาพุ่งสูง ซ้ำเติมครัวเรือนในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ที่กำลังเผชิญกับสงครามกลางเมืองพ่วงด้วยภาวะเศรษฐกิจที่กำลังล่มสลายหลังเหตุวุ่นวายทางการเมือง

ค่าเงินจ๊าดเมียนมาอ่อนค่าหนักไปถึงระดับ 7,500 จ๊าดต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากระดับ 5,000 จ๊าดต่อดอลลาร์ในการซื้อขายในตลาดมืดช่วงเดือนสิงหาคมนี้ อ้างอิงจากผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 4 รายที่ให้ข้อมูลกับรอยเตอร์ โดยการอ่อนค่าอย่างหนักของเงินจ๊าด เกิดขึ้นหลังมีรายงานว่ารัฐบาลทหารเมียนมาพิมพ์เงินจ๊าดเพิ่มเพื่อหวังพยุงค่าเงิน

ตัวแทนรับโอนเงินข้ามประเทศในไทย ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม บอกกับรอยเตอร์ว่า “ผู้คนแห่ซื้อเงินบาท(ไทย)และขายเงินจ๊าด” และว่า “คนที่ขายเงินบาทออกคือคนที่ส่งเงินกลับไปเมียนมาจากประเทศไทยเท่านั้น”

ค่าเงินจ๊าดกลับมาแข็งค่าขึ้นในกรอบ 6,000 จ๊าดต่อดอลลาร์ในตลาดมืด ระหว่างที่ธนาคารกลางเมียนมากำหนดอัตราแลกเปลี่ยนไว้ที่ 2,100 จ๊าดต่อดอลลาร์เมื่อวันอังคาร ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศออนไลน์อยู่ที่ 3,400 จ๊าดต่อดอลลาร์

ประชาชน พ่อค้าแม่ค้า แพทย์ และเภสัชกรในเมียนมา 6 ราย ผู้ไม่ประสงค์เปิดเผยชื่อเนื่องจากความกังวลเรื่องความปลอดภัยบอกกับรอยเตอร์ว่า ค่าเงินที่อ่อนค่า ต้นทุนค่าขนส่งมวลชนที่สูงขึ้น และการค้าชายแดนที่หยุดชะงัก ได้ดันราคาสินค้าประเภทยารักษาโรคและของชำตามเมืองใหญ่ในเมียนมาพุ่งสูงในช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้

หนึ่งในนั้นเป็นแม่บ้านวัย 27 ปี ในกรุงเนปิดอว์เมืองหลวง บอกกับรอยเตอร์ว่า “แต่เดิมค่าของชำที่บ้านจะอยู่ที่ 25,000 จ๊าด(11.94 ดอลลาร์)ต่อสัปดาห์ จนกระทั่งเมื่อเดือนก่อน ตอนนี้ราคาของพวกนี้อยู่ที่ 40,000 จ๊าดแล้ว”

ด้านโฆษกรัฐบาลทหารเมียนมาไม่ได้ตอบกลับคำขอความเห็นจากรอยเตอร์ในช่วงเวลาที่รายงานข่าวนี้

เมียนมาซึ่งเคยมีตลาดการค้าชายแดนที่มีศักยภาพ เผชิญกับเหตุรุนแรงในประเทศมาตั้งแต่ปี 2021 ที่กองทัพยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทำให้นักลงทุนต่างชาติแห่ถอนเงินทุน ชาติตะวันตกออกมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจ ขณะที่การประท้วงภายในที่กลายเป็นการลุกฮือของกลุ่มแข็งข้อต่อต้านที่ลุกขึ้นมาจับอาวุธต่อสู้กับกองทัพ ทำให้รัฐบาลทหารเมียนมาสูญเสียการควบคุมในหลายพื้นที่ใหญ่ของเมียนมา รวมทั้งเส้นทางการค้าสำคัญกับจีนและไทย

  • ที่มา: รอยเตอร์

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG