ยุงเป็นตัวเเพร่ระบาดเชื้อมาลาเรียที่ทำให้คนเสียชีวิตราว 429,000 คนทุกปี ส่วนใหญ่เป็นเด็ก ดังนั้นวิธีการกำจัดยุงวิธีใหม่นี้จึงได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก
ในการทดลอง ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน (Imperial College London) สามารถกำจัดยุงสายพันธุ์ก้นปล่องซึ่งเป็นพาหะของเชื้อมาลาเรีย โดยทีมงานใช้เทคนิคทางพันธุวิศวกรรม
ศาสตราจารย์ แอนเดรีย คริสซานติ (Andrea Crisanti) หนึ่งในหัวหน้าทีมงานวิจัยนี้ กล่าวว่า เทคนิคทางพันธุวิศวกรรมนี้ช่วยให้พันธุกรรมยุงที่ได้รับการตกแต่งใหม่ เเพร่จากยุงตัวหนึ่งไปยังยุงตัวอื่นๆ ทั้งหมดได้
การตกแต่งพันธุกรรมดังกล่าวไปรบกวนการทำงานของพันธุกรรมตัวหนึ่งของยุง ที่ทำหน้าที่แยกความแตกต่างทางเพศของยุง
ศาสตราจารย์คริสซานติ กล่าวว่า หากทำลายยีนที่แยกแยะความเเตกต่างทางเพศของยุงตัวเมีย ยุงก็ไม่สามารถพัฒนาเป็นยุงตัวเมียได้ แต่จะพัฒนาเป็นยุงไม่ใช่ทั้งเพศเมียหรือเพศผู้เรียกว่า intersex
ยุงชนิดใหม่นี้จะไม่กัดคน ซึ่งเป็นผลดีมาก เเละไม่สามารถวางไข่ได้ จึงไม่ขยายพันธุ์ได้ และเมื่อยุงไม่สามารถเเพร่พันธุ์ได้ ยุงทั้งสายพันธุ์จะตายลงเเละหมดไปภายในเจ็ดรุ่นของยุง
แต่ทีมงานยังมีคำถามอยู่ว่า หากนำไปใช้กับยุงในสภาพธรรมชาติจริงๆ จะได้ผลแบบเดียวกับการทดลองหรือไม่
ศาสตราจารย์คริสซานติ กล่าวว่า ทีมงานได้ย้ายยุงในการทดลองไปไว้ในพื้นที่ควบคุมที่เลียนแบบสภาพเเวดล้อมเขตร้อน การทดลองในขั้นตอนนี้มีความสำคัญมากในการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัย ความคงที่เเละความสามารถของยีนปรับเเต่งในการแพร่ข้ามสายพันธุ์ของยุง
ทีมนักวิทยาศาสตร์ไม่ต้องการให้พันธุกรรมที่ถูกปรับแต่งแพร่ไปสู่ยุงสายพันธุ์อื่นๆ เเละกำจัดประชากรยุงในจำนวนที่มากเกินไป เพราะนก กบ เเละสัตว์ชนิดอื่นๆ ยังต้องกินยุงเป็นอาหาร
ขณะนี้การทดสอบยังจำกัดอยู่เฉพาะในห้องทดลองเท่านั้น โดยคาดว่าการทดสอบกับยุงในธรรมชาติอาจเป็นไปได้ภายใน 5 ถึง 10 ปีต่อจากนี้
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)