รัฐบาลมอสโกประกาศห้ามผู้สื่อข่าวจากประเทศที่ตนตีตราว่า “ไม่เป็นมิตร” ไม่ให้เข้าร่วมการประชุมสภาเศรษฐกิจระหว่างประเทศเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในปีนี้ ซึ่งเป็นมาตรการที่ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันว่า พุ่งเป้าไปยังผู้สื่อข่าวจากชาติตะวันตกนั่นเอง
การประชุมดังกล่าวซึ่งเป็นงานประจำปีที่จัดมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1997 และเป็นงานที่รัสเซียผลักดันขึ้นมาเทียบเคียงกับการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum – WEF) ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ใช้เวทีงานนี้เพื่อนำเสนอรัสเซียต่อประชาคมโลก และเพื่อโฆษณาเศรษฐกิจของประเทศไปยังบรรดานักลงทุนจากทั่วโลก
ในปีนี้ งานดังกล่าวมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-17 มิถุนายน
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ผู้สื่อข่าวจากประเทศตะวันตกนั้นไม่เคยถูกห้ามไม่ให้มาร่วมงานแบบเหมารวมแบบนี้มาก่อน โดยการประกาศห้ามที่มีออกมาเมื่อวันเสาร์สะท้อนภาพความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างมอสโกและชาติตะวันตกที่เพิ่มสูงเพราะการดำเนินการลงโทษต่อรัสเซีย สำหรับการรุกรานยูเครน
ดมิทรี เพสคอฟ โฆษกเครมลิน กล่าวกับสถานีข่าว Tass ของรัฐบาลเมื่อวันเสาร์ว่า “มีการตัดสินใจแล้วว่า จะไม่มีการรับรองสื่อต่าง ๆ จากประเทศที่ไม่เป็นมิตรให้มาร่วมงาน SPIEF (ชื่อย่อของงานการประชุม) ในปีนี้” และว่า “มีการให้ความสนใจมากมายต่องาน SPIEF เสมอ และผู้สื่อข่าวอื่น ๆ จะได้เข้าร่วมทำงานพื้นที่”
ก่อนการประกาศห้ามนี้ มีผู้สื่อข่าวจากชาติตะวันตกบางรายที่ได้รับการรับรองให้มาร่วมงานในปีนี้ไปแล้ว เช่น ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์จากสำนักงานที่กรุงมอสโกซึ่งได้รับหนังสือยืนยันการรับรองเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว แต่ได้รับแจ้งในวันถัดมาว่า การรับรองที่ว่าถูกยกเลิกไปแล้ว
นับตั้งแต่มอสโกเริ่มรุกรานยูเครนเมื่อต้นปีที่แล้ว ผู้สื่อข่าวต่างชาติจำนวนมากตัดสินใจเดินทางออกจากรัสเซียด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย ขณะที่ ผู้ที่ยังคงเดินหน้าทำงานต่อไปต่างต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ อันรวมถึง การถูกจับกุมโดยไม่มีโอกาสโต้แย้งขัดขืน ดังเช่น กรณีของ เอฟวาน เกิร์ชโควิช ผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ เดอะ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล ซึ่งถูกรัสเซียจับกุมตัวตั้งแต่เมื่อกว่า 2 เดือนก่อน ด้วยข้อกล่าวหาจารกรรม ซึ่งทั้งเจ้าตัวและรัฐบาลสหรัฐฯ ปฏิเสธมาโดยตลอด
- ข้อมูลบางส่วนมาจากรอยเตอร์และเอพี