รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการลงโทษกับภาคธุรกิจไทยมากขึ้นอีก เนื่องจากดำเนินธุรกิจกับรัสเซีย นับเป็นความพยายามล่าสุดเพื่อสกัดรัสเซียจากการหลบเลี่ยงมาตรการลงโทษของชาติตะวันตก
ประเทศไทยกลายเป็นหนึ่งในเส้นทางหลักในการส่งออกสินค้าที่ใช้ได้สองทาง (dual-use goods) ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งการพาณิชย์และการทหาร อาทิ เครื่องจักรและชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ และมีบริษัทท้องถิ่นจำนวนมากขึ้นที่ถูกกล่าวหาว่าช่วยเหลือรัสเซียในการหลบเลี่ยงมาตรการควบคุมการส่งออกจากมาตรการลงโทษของชาติตะวันตก
ข้อมูลการค้าที่เผยแพร่เมื่อปีที่แล้ว โดยบริษัทวิเคราะห์ด้านการเงิน S&P Global Market Intelligence ในนิวยอร์ก พบว่า มีตัวเลขการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้จากประเทศไทยพุ่งสูงขึ้นมาก จากระดับ 8.2 ล้านดอลลาร์ในปี 2022 มาเป็น 98.7 ล้านดอลลาร์ในปี 2023 ซึ่งสูงขึ้นถึง 1,000%
ส่วนในปี 2024 การส่งออกสินค้าที่ใช้ได้สองทางของไทยไปยังรัสเซียมีมูลค่า 90 ล้านดอลลาร์
ที่น่าสนใจ คือ ในการส่งออกของไทยไปยังรัสเซียในปี 2023 ยังมีสินค้าที่อาจใช้เป็นส่วนประกอบอาวุธของรัสเซีย อย่างเช่น ไมโครชิป ซึ่งอยู่ในสินค้ากลุ่ม Tier 1 ที่ใช้จัดประเภทสินค้าที่สนับสนุนรัสเซียในการทำสงครามกับยูเครนของศุลกากรสหรัฐฯ
ไบรอน แมคคินนีย์ ผู้เชี่ยวชาญจาก S&P Global Market Intelligence กล่าวกับวีโอเอว่า “เป็นเรื่องน่าประหลาดใจที่ได้เห็น ... เพราะถือประเทศหรือพิกัดใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกสินค้าประเภทนี้” และว่าประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศที่มีไว้สำหรับการขนถ่ายหรือขนส่งสินค้าเหล่านี้ตั้งแต่แรก ก่อนที่จะมาพบในภายหลัง
ในช่วง 13 เดือนที่ผ่านมา สหรัฐฯ บังคับใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจกับบริษัทของไทย 7 แห่ง อาทิ NAL Solutions, Intracorp และ Siam Expert Trading เนื่องจากส่งออก “สินค้าที่มีความสำคัญอย่างมาก” ไปยังรัสเซีย โดยมาตรการลงโทษรอบล่าสุดนั้นเกิดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคมปีก่อน
ทั้งนี้ 5 บริษัทจาก 7 บริษัทไทย ไม่ได้ตอบกลับการขอความเห็นจากวีโอเอเกี่ยวกับเรื่องการลงโทษทางเศรษฐกิจจากสหรัฐฯ และวีโอเอไม่สามารถติดต่ออีก 2 บริษัทได้ในช่วงเวลาที่จัดทำรายงานนี้
ฝั่งโฆษกรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ของไทย ไม่ได้ตอบกลับการขอความเห็นของวีโอเอเช่นกัน
หลังรัสเซียรุกรานยูเครนเต็มรูปแบบเมื่อปี 2022 ไทยยังกระชับความสัมพันธ์ด้านการทูตและเศรษฐกิจกับรัสเซีย
เอียน สโตเรย์ นักวิชาการอาวุโสจาก ISEAS-Yusof Ishak Institute ในสิงคโปร์ กล่าวกับวีโอเอว่า “เมื่อครั้งที่เศรษฐา(ทวีสิน)เป็นนายกรัฐมนตรีไทยเมื่อปี 2023 ได้มุ่งเน้นด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจและมองรัสเซียเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่มีประโยชน์” และมองว่ารัฐบาลใต้การนำของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ไทยยังคงยึดมั่นในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจและมีจุดยืนเป็นกลางในเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครนต่อไป
นอกจากนั้น สโตเรย์ เสริมว่า รัสเซียเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทย และกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นหนึ่งในเสาหลักทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย
และเมื่อมองถึงความสำคัญของไทยในเวลานี้ และแนวทางที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ใช้ในการหารือยุติสงครามยูเครน นักวิชาการผู้นี้ยังคงกังขาว่าทางการไทยจะเข้ามาจัดการเรื่องการส่งออกสินค้าเหล่านี้หรือไม่ โดยระบุว่าหากไทย “ไม่เข้าไปจัดการปราบปรามการค้าเหล่านี้ในช่วง 3 ปีที่สงครามเริ่มขึ้น มีโอกาสน้อยมากที่จะเข้าไปจัดการตอนนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่คณะทำงานทรัมป์กำลังสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับรัสเซีย”
ณ เวลานี้ทั่วเอเชีย มีเพียงญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน ที่ออกมาตรการจำกัดการส่งออกและมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจกับรัสเซีย นับตั้งแต่สงครามยูเครนปะทุขึ้น
- ที่มา: วีโอเอ
กระดานความเห็น