ลิ้งค์เชื่อมต่อ

โรงเรียนในสหรัฐฯ สอนทักษะ “ความรู้ด้านการเงิน” ผ่านวิชาเลข


อเมริกาผลักดันการสอนทักษะความรู้ด้านการเงิน โดยนำมาผสมผสานกับวิชาคณิตศาสตร์ ที่เด็กและเยาวชนอเมริกันกำลังเผชิญปัญหาเรื่องผลการเรียนด้านนี้ที่ไม่สู้ดีนัก และการผลักดันหลักสูตรเหล่านี้อาจได้ผลสำหรับเด็กและเยาวชนที่ประสบปัญหาในวิชานี้ไม่มากก็น้อย

หากทักษะบริหารการเงินส่วนบุคคลคือเรื่องจำเป็นในชีวิต จะดีแค่ไหนหากเราได้เรียนรู้หัวข้อนี้ตั้งแต่วัยเด็ก

โรงเรียน Capital City Public Charter School ในกรุงวอชิงตัน เล็งเห็นความจำเป็นของประเด็นดังกล่าว ในการนำความรู้ด้านการเงินมาผสมผสานเข้ากับบทเรียนคณิตศาสตร์ ในหลักสูตร “พีชคณิตขั้นสูงประยุกต์ใช้ด้านการเงิน” (Advanced Algebra with Financial Applications)

ในชั้นเรียนนี้นักเรียนจะได้เรียนรู้ เรื่องสินเชื่อ การลงทุน และการกู้ยืม รวมทั้งยังได้ฝึกคำนวณตัวเลข อย่างเรื่องดอกเบี้ยทบต้น เมทริกซ์ และสมการที่มีตัวแปรเป็นเลขชี้กำลัง ซึ่งเป็นชั้นเรียนวิชาเลือกด้านคณิตศาสตร์ที่เริ่มต้นมานานทศวรรษแล้ว

ไม่เพียงแต่โรงเรียนข้างต้นที่ผลักดันเรื่องนี้ เพราะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พบว่ามีโรงเรียนในสหรัฐฯ อีกจำนวนหลายแห่งได้ดำเนินการในทิศทางเดียวกัน นับตั้งแต่ปี 2020 มีเก้ารัฐในอเมริกา ที่เริ่มต้นออกกฎและนโยบายที่กำหนดให้ต้องบรรจุการศึกษาด้านการเงินส่วนบุคคล ก่อนที่นักเรียนจะจบการศึกษาชั้นมัธยมปลาย และตอนนี้มี 30 รัฐที่ดำเนินนโยบายดังกล่าว อ้างอิงข้อมูลจากองค์กรไม่แสวงผลกำไรด้านการศึกษา Council for Economic Education (CEE)

กระแสดังกล่าวเกิดขึ้น ในขณะที่นักการศึกษาพยายามอย่างหนักที่จะเสริมทักษะด้านคณิตศาสตร์ให้กับเหล่านักเรียน ซึ่งทักษะด้านตัวเลขของนักเรียนได้รับผลกระทบเชิงลบจากช่วงการระบาดใหญ่และทักษะของพวกเขายังไม่ฟื้นตัวกลับมาในระดับมาตรฐาน อีกหนึ่งอุปสรรคก็คือวิชาเลขเป็นสิ่งที่วัยรุ่นต่างเบือนหน้าหนี

โทนิกา เททัม-กอร์เมส ผู้สอนหลักสูตรคณิตศาสตร์ประยุกต์ด้านการเงิน เผยว่าการมีส่วนร่วมของนักเรียนในชั้นเรียนนี้ดีขึ้น เพราะพวกเขาเห็นความเชื่อมโยงระหว่างคณิตศาสตร์กับการบริหารจัดการด้านการเงินของตนเองในอนาคต เธอบอกว่านักเรียนเริ่มเข้าใจเหตุผลว่าทำไมต้องเรียนเรื่องทศนิยม เศษส่วน และเปอร์เซ็นต์ เพราะความรู้เหล่านี้จะถูกนำไปใช้บริหารจัดการด้านการเงินของพวกเขาเอง

ตามคำแนะนำขององค์กร CEE ชี้ว่า การศึกษาขั้นพื้นฐานตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในสหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องกับด้านการเงินส่วนบุคคล ควรสอนในประเด็น เรื่องการหารายได้ การจัดทำงบประมาณ การออม การลงทุน รวมถึงการจัดการสินเชื่อและความเสี่ยงด้านการเงิน ผู้เชี่ยวชาญมองว่าวิชาเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องให้ครูคณิตศาสตร์เป็นผู้สอนก็ได้

อันนามาเรีย ลูซาร์ดี ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการของศูนย์ Global Financial Literacy Excellence Center กล่าวว่า “ยิ่งเพิ่มคณิตศาสตร์ให้กับวิชาความรู้ด้านการเงินมากเท่าไร ก็ยิ่งดีมากเท่านั้น” เธอเสริมว่า การตัดสินใจหลายกรณีต้องอาศัยการคำนวณ ดังนั้นคณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังอย่างมาก และความรู้ด้านการเงินเป็นมากกว่าเรื่องของคณิตศาสตร์

ในปีนี้ รัฐไอดาโฮ ได้อนุมัติหลักสูตรความรู้ด้านการเงินรูปแบบใหม่ ให้เป็นข้อกำหนดในการสำเร็จการศึกษา หลักสูตรใหม่นี้จะเปิดโอกาสให้นักเรียนได้นำทักษะจากชั้นเรียนคณิตศาสตร์ อย่างเช่น พีชคณิต แคลคูลัส และเศรษฐศาสตร์มาประยุกต์ใช้กับชีวิตจริง ทั้งเรื่องการคำนวณเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาในอนาคต การชำระค่าเช่า และข้อกำหนดด้านรายได้

เด็บบี้ คริตช์ฟิลด์ ผู้อำนวยการใหญ่ด้านการศึกษาแห่งรัฐไอดาโฮ กล่าวว่าสิ่งนี้สำคัญอย่างยิ่ง เธอได้ยินจากคนจำนวนมาก ว่าคนหนุ่มสาวไม่ได้เตรียมความพร้อมสำหรับทักษะด้านการเงินขั้นพื้นฐาน ที่พวกเขาจำเป็นต้องมี เพื่อที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า วิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ที่นำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ในปี 2007 ตามมาด้วยความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจจากโรคระบาดและภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบัน อาจทำให้ชาวอเมริกันหันมาสนใจด้านการเงินมากขึ้น ตามข้อมูลขององค์กร CEE เผยว่ามีเพียง 24% ของคนรุ่นมิลเลนเนียล ที่มีทักษะความรู้ด้านการเงินขั้นพื้นฐาน

กลุ่มผู้สนับสนุนการสอนเรื่องการเงินส่วนบุคคล ชี้ว่าหากไม่ให้การศึกษาในเรื่องนี้ คนวัยหนุ่มสาวอาจไปหาความรู้จากแหล่งอื่นที่ไม่น่าเชื่อถือ อย่างเช่น TikTok หรือช่อง YouTube และหากอาศัยอยู่ในครอบครัวที่พ่อแม่ไม่มีความรู้ดังกล่าว จะก่อให้เกิดปัญหาความไม่เท่าเทียมทางสังคม

ในปี 2020 กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิพลเมือง NAACP ได้เรียกร้อง ให้มีการสอนความรู้ทางการเงินเพิ่มเติมในโรงเรียนระดับอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย

ตามการวิเคราะห์ขององค์กร Next Gen Personal Finance ระบุว่า โรงเรียนที่มีนักเรียนผิวสีและเชื้อสายฮิสแปนิกเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งไม่มีข้อกำหนดจากรัฐให้ต้องสอนหลักสูตรด้านการเงินส่วนบุคคล พบว่ามีนักเรียนเพียง 7% เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงหลักสูตรการเงินส่วนบุคคลอย่างน้อยภาคเรียน และหากโรงเรียนไหนมีสัดส่วนของนักเรียนผิวสีและเชื้อสายฮิสแปนิกน้อยกว่าหนึ่งในสี่ ตัวเลขดังกล่าวปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่ 14.2%

  • ที่มา: เอพี

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG