ในรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร Psychiatry Research ทีมนักวิจัยแห่ง Georgetown University Medical Center ชี้ว่า คนที่ฝึกทำสมาธิควบคุมจิตใจมีระดับฮอร์โมนความเครียดลดลง และมีอาการอักเสบที่เกิดจากการตอบสนองของร่างกายต่อสถานการณ์เครียดน้อยลง
ในขณะที่คนที่บำบัดความเครียดด้วยวิธีอื่น รับมือกับความเครียดได้ไม่ดีเท่ากับคนที่นั่งสมาธิร่วมด้วย
Elizabeth A. Huge รองศาสตราจารย์แห่งภาควิชาจิตวิทยาที่ Georgetown University Medical Center ผู้ร่างรายงานผลการศึกษานี้ กล่าวว่า การฝึกสมาธิเป็นการบำบัดที่ไม่เเพง เป็นวิธีการบำบัดโรควิตกกำลังที่สังคมให้การยอมรับ และผลการศึกษานี้ช่วยยืนยันว่าการฝึกสมาธิช่วยปรับปรุงความสามารถของร่างกายในการรับมือกับความเครียด
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ชาวอเมริกันราว 7 ล้านคนเป็นโรควิตกจริตหรืออาการวิตกกังวลสูงเรื้อรัง
ทีมนักวิจัยอธิบายว่า ในการศึกษาครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมในการวิจัยทั้งหมด 89 คน และถูกเเบ่งออกเป็นสองกลุ่ม อาสาสมัครกลุ่มเเรกเข้ารับการอบรมด้านการจัดการกับความเครียดโดยฝึกสมาธิร่วมด้วย ในขณะที่อาสาสมัครกลุ่มที่สองไม่ฝึกสมาธิ แต่ใช้วิธีอื่นๆ ช่วยในการลดระดับความเครียด เช่น การนอนหลับให้เพียงพอ การปรับนิสัยการกิน และเทคนิคอื่นๆ
ทีมนักวิจัยสร้างความเครียดเเก่อาสาสมัครด้วยการให้ผู้เข้าร่วมการวิจัยทั้งสองกลุ่มกล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้ากลุ่มคนฟัง โดยการกล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าคนอื่นมีขึ้นทั้งก่อนหน้าเเละภายหลังจากที่อาสาสมัครเข้าฝึกการจัดการความเครียด
Elizabeth Huge หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่าการกล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้ากลุ่มผู้ฟังเป็นการทดสอบว่า อาสาสมัครรับมือกับความเครียดได้ดีเเค่ไหน เพื่อตอบข้อสงสัยที่ว่ามีวิธีช่วยให้คนเรารับมือกับความเครียดได้ดีขึ้นหรือไม่
ในระหว่างการทดสอบระดับความเครียดที่ว่านี้ ทีมนักวิจัยได้เก็บข้อมูลทางชีววิทยาที่บ่งชี้ถึงระดับความเครียดของอาสาสมัคร ด้วยการตรวจระดับฮอร์โมนความเครียดในร่างกายที่เรียกว่า ACTH กับโปรตีนที่เเสดงว่าเกิดการอักเสบในร่างกายที่เรียกว่า IL6 และโปรตีน TNF-a
หลังการทดลอง ทีมนักวิจัยพบว่ากลุ่มอาสาสมัครที่ไม่ได้ฝึกสมาธิมีระดับความเครียดสูงขึ้น ภายหลังการทดสอบด้วยการกล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้ากลุ่มผู้ฟังครั้งที่สอง ซึ่งเเสดงว่าอาสาสมัครเกิดความวิตกกังวลมากขึ้นกว่าการทดสอบครั้งเเรก เพราะเครียดที่ต้องขึ้นไปกล่าวสุนทรพจน์อีกครั้ง
ส่วนอาสาสมัครกลุ่มที่เข้ารับการฝึกสมาธิมีระดับความเครียดลดลงอย่างมาก ดูได้จากผลการตรวจหาระดับฮอร์โมนความเครียด เเละตัวโปรตีนที่เกิดจากอาการอักเสบในร่างกายซึ่งเเสดงว่าการฝึกสมาธิมีผลช่วยลดระดับความเครียดลง
นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยชี้ว่าอาสาสมัครที่เข้าฝึกการทำสมาธิยังรู้สึกด้วยตัวเองว่าเครียดน้อยลงหลังจากสิ้นสุดการทดลองนี้
(รายงานโดย Matt Hilburn / เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว)