ในบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร New England Journal of Medicine ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าความสัมพันธ์ทางสังคมของคนเรา เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมนิสัยที่ดีและพฤติกรรมที่ช่วยรักษาสุขภาพให้เเข็งเเรง เช่น ช่วยให้ญาติหรือคนสนิทปรับปรุงนิสัยการกิน และการออกกำลังกาย
เพราะญาติสนิทมิตรสหายใช้เวลาอยู่กับผู้ป่วยมากกว่าแพทย์และพยาบาลที่ให้การรักษาซึ่งได้พบปะกับผู้ป่วยเป็นครั้งคราวเท่านั้น
ทีมนักวิจัยที่ศูนย์เพื่อนวัตกรรมด้านการดูแลสุขภาพ (Center for Health Care Innovation) มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ชี้ว่าความสัมพันธ์ทางสังคมของคนเราในห้าระดับ มีอิทธิพลต่อการมีพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพ
ในขั้นเเรก ผู้ป่วยดูแลตัวเองตามลำพังโดยไม่มีญาติหรือเพื่อนคอยใช้เวลาอยู่ด้วย ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักประสบผลสำเร็จน้อยในการปรับปรุงสุขภาพให้ดีขึ้น
ในขั้นที่สูงขึ้นไป ผู้ป่วยมีคนอยู่รอบข้างมากขึ้นตามลำดับ จึงมีระดับความสำเร็จในการรักษาสุขภาพให้ดีขึ้นสูงขึ้นไปตามไปด้วย เเล้วแต่ว่าได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือจากญาติสนิทมิตรสหายมากแแค่ไหน
ในขั้นที่สูงที่สุด ผู้ป่วยได้รับการดูเเลเอาใจใส่จากคนที่รักอย่างเต็มที่รอบด้าน มีการตั้งเป้าหมายร่วมกัน นักวิจัยชี้ว่าคนป่วยกลุ่มนี้จะมีสุขภาพที่ดีขึ้นมากที่สุด
ทีมนักวิจัยกล่าวว่า ความสัมพันธ์ทางสังคมนำไปสู่การสร้างนิสัยที่ดีต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะช่วยกระตุ้นให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมที่ช่วยให้ได้ออกเเรงกาย เช่น พากันออกไปเดินเล่นหรือพากันไปออกกำลังกายที่ยิม เเทนที่จะนั่งดูทีวีอยู่ในบ้าน
ทีมนักวิจัยย้ำว่า เพื่อนและสมาชิกในครอบครัวมีส่วนช่วยเเนะนำผู้ป่วยถึงอาหารที่ควรเลือกรับประทานเวลาออกไปทานอาหารข้างนอกด้วยกัน ซึ่งได้ผลดีกว่าคำเเนะนำของเเพทย์เกี่ยวกับโภชนาการที่ดี
David Asch ผู้ร่วมร่างบทความนี้กล่าวว่า ผลดีจากความสัมพันธ์ทางสังคมนี้เป็นผลดีที่ได้มาโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่กลับเป็นโอกาสที่แวดวงการเเพทย์ในสหรัฐฯ ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์
เขากล่าวว่าความกังวลเกี่ยวกับประเด็นความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วยทำให้แพทย์และพยาบาลไม่อยากส่งเสริมคนใกล้ชิดผู้ปวย ญาติและเพื่อน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการบำบัดรักษา
Asch กล่าวว่า ในขณะที่ความเป็นส่วนตัวเป็นเรื่องสำคัญในคนไข้บางกรณี แต่คนไข้โรคเบาหวานจะได้ประโยชน์อย่างมาก หากญาติสนิทมิตรสหายยื่นมือเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือผู้ป่วยในการดูเเลสุขภาพ
ทีมนักวิจัยชี้ว่า มีผลการศึกษาชิ้นอื่นหลายชิ้นที่พบผลดีของความสัมพันธ์ทางสังคมและครอบครัวในการดูเเลผู้ป่วย
เช่น ตัวอย่างผลการศึกษาชิ้นหนึ่งที่ชี้ว่า ผู้ป่วยที่ได้พูดคุยกับเพื่อนสัปดาห์ละครั้ง มีอาการของโรคเบาหวานที่ดีขึ้นกว่าผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจากเเพทย์เพียงอย่างเดียว
(รายงานโดย Jessica Berman / เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว)