นักวิจัยที่มหาวิทยาลัย Brigham Young ของสหรัฐฯ กล่าวว่าหนทางหนึ่งแห่งการมีอายุยืน อาจจะเป็นการรับประทานอาหารให้น้อยลง
ผู้เชี่ยวชาญที่สถาบันแห่งนี้บอกว่า การทานอาหารน้อยลงช่วยชะลอการเสื่อมอายุของเซลล์ และได้ตีพิมพ์ผลงานการศึกษาในวารสารวิชาการ Molecular & Cellular Proteomics
ในการทดลองกับหนู พวกเขาพบว่าการรับแคลอรี่ปริมาณน้อยลง จะช่วยให้เซลล์มีเวลามากขึ้นในการสร้างโปรตีนที่ใช้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ กระบวนการดังกล่าวซึ่งเรียกว่า Ribosomes ใช้พลังงานร้อยละ 10 ถึง 20 จากพลังงานทั้งหมดของแต่ละเซลล์
ก่อนหน้านี้เคยมีนักวิจัยที่เห็นความเชื่อมโยงของการรับอาหารน้อยลงกับการชะลอความเสื่อมตามอายุของเซลล์ แต่การศึกษาชิ้นนี้ของทีมผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัย Brigham Young ถือเป็นครั้งแรกที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของ Ribosomes ต่อการเสื่อมอายุลงของเซลล์
อาจารย์ จอห์น ไพรซ์ ผู้ร่วมเขียนงานวิจัยนี้ กล่าวว่า กระบวนการดังกล่าวมีความสลับซับซ้อมมาก และเช่นเดียวกับรถยนต์ คือระบบของ Ribosomes จำเป็นต้องได้รับการบำรุงรักษาเป็นครั้งคราว
ข้อมูลจากการวิจัยนี้ได้มาจากการศึกษาหนูสองกลุ่ม ในกลุ่มแรกหนูสามารถกินอาหารในปริมาณที่พวกมันต้องการเท่าใดก็ได้ และกลุ่มที่สองเป็นหนูที่รับอาหารที่มีแคลอรี่น้อยลงร้อยละ 35
ปรากฏว่าหนูในกลุ่มที่สองมีอายุยืนกว่ากลุ่มแรกอย่างมีนัยสำคัญ!
นักวิจัยคิดว่าการรับอาหารน้อยลง สร้างการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกาย ซึ่งไปชะลอการเสื่อมลงของเซลล์ตามอายุ
อาจารย์ไพรซ์กล่าวว่า หนูที่ทานอาหารน้อยร้อยละ 35 แสดงให้เห็นว่ามีกำลังมากกว่า และป่วยน้อยกว่าอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ลดอาหาร
เขาย้ำว่าไม่ใช่เฉพาะการมีอายุยืนกว่าเท่านั้น แต่หนูกลุ่มที่สองนี้ยังแสดงให้ถึงถึงความอ่อนวัยกว่า ตรงที่พวกมันสามารถรักษาระดับพลังงานในร่างกายได้ดี
อย่างไรก็ตาม การลดปริมาณแคลอรี่เพื่อดูถึงผลต่อการรักษาความอ่อนเยาว์ยังไม่มีการศึกษาในมนุษย์
อาจารย์ไพรซ์บอกว่า ที่อยากฝากไว้คือเรื่องความสำคัญของการดูแลร่างกายตัวเรา และอาหารไม่ใช่เพียงแต่เป็นสิ่งที่ร่างกายต้องเผาผลาญ แต่เป็นสิ่งกระตุ้นให้ร่างกายต้องตอบสนองทางใดทางหนึ่ง
ในอนาคต นักวิจัยจึงต้องการค้นหาต่อไปว่า ระบบการเสื่อมลงของอายุเซลล์มีกระบวนการอย่างใดอีก เพื่อที่จะหาคำตอบเรื่องอาหารที่มนุษย์ควรเลือกรับประทาน
(รายงานโดย ห้องข่าววีโอเอ / เรียบเรียงโดยรัตพล อ่อนสนิท)