ในรายงานที่ตีพิม์ในวารสาร Sleep ไปเมื่อเร็วๆ นี้ ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันชี้ว่า การนอนหลับไม่เพียงพอมีผลเสียต่อระบบภูมิต้านทานของร่างกาย
ก่อนที่จะได้ผลสรุปเช่นนี้ ทีมนักวิจัยได้ศึกษาพี่น้องคู่แฝดที่เกิดจากไข่ใบเดียวกันจำนวน 11 คู่ที่มีลักษณะการนอนหลับที่ต่างกัน และพบว่าแฝดคนที่นอนน้อยมีระบบภูมิต้านทานร่างกายที่อ่อนเเอกว่า
ทีมนักวิจัยชี้ว่าปัจจัยทางพันธุกรรมมีผลต่อการนอนหลับของคนเรา ส่วนพฤติกรรมและสิ่งเเวดล้อมเป็นปัจจัยในส่วนที่เหลือ
Dr. Nathaniel Watson ผู้อำนวยการร่วมของศูนย์ UW Medicine Sleep Center ที่ Harborview Medical Center ผู้ร่วมร่างรายงานผลการวิจัยชิ้นนี้ กล่าวว่า ผลการศึกษานี้พบว่าระบบภูมิต้านทานของร่างกายทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดเมื่อร่างกายได้นอนหลับอย่างเพียงพอ และคนเราควรนอนหลับนานอย่างน้อยวันละ 7 ชั่วโมงขึ้นไปเพื่อช่วยถนอมร่างกายให้เเข็งเเรง
ทีมนักวิจัยชี้ว่า จากผลการศึกษาแบบจำกัดในห้องแล็บ การนอนหลับไม่เพียงพออาจทำให้เกิดอาการอักเสบในร่างกายสูงขึ้น และกระตุ้นการทำงานของเซลล์ภูมิต้านทานร่างกาย แต่ทีมนักวิจัยมีข้อมูลน้อยมากเกี่ยวกับผลกระทบระยะยาวต่อร่างกายจากการนอนหลับไม่เพียงพอ
Dr. Watson กล่าวว่า ผลการศึกษาตรงกับผลการศึกษาหลายชิ้นที่เเสดงว่า เมื่อคนที่นอนหลับไม่เพียงพอได้รับการฉีดวัคซีนชนิดใดชนิดหนึ่ง ระดับการตอบสนองของแอนติบอดี้ค่อนข้างต่ำ และหากคนที่นอนน้อยสัมผัสกับเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคหวัด คนกลุ่มนี้มีโอกาสติดเชื้อสูงกว่าคนอื่น
การศึกษานี้เป็นการยืนยันความเชื่อที่ว่า การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอมีผลดีโดยรวมต่อความเเข็งเเรงของร่างกาย โดยเฉพาะระบบภูมิต้านทานของร่างกาย
ทีมนักวิจัยอ้างอิงข้อมูลจากกรมควบคุมและป้องกันโรคเเห่งสหรัฐฯ ที่ชี้ว่าชาวอเมริกันโดยเฉลี่ยนอนหลับน้อยกว่าระยะเวลาที่ควรราว 1 ชั่วโมงครึ่งถึง 2 ชั่วโมงต่อวัน ในขณะที่คนอเมริกัน 1 ใน 3 คน นอนหลับน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน
ทีมนักวิจัยระบุว่า วิถีชีวิตของคนสมัยใหม่และการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างกว้างขวางในชีวิตประจำวันและกิจกรรมต่างๆ มากมายที่ต้องทำ มีผลให้คนนอนหลับไม่เพียงพอ
(รายงานโดย VOA News / เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทย)