ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อ ‘มาคร็อง’ หนุนปักกิ่งเรื่องไต้หวัน หวังดึงจีนช่วยยุติสงครามยูเครน


French President Emmanuel Macron at the University of Amsterdam, April 12, 2023.
French President Emmanuel Macron at the University of Amsterdam, April 12, 2023.

ผู้เชี่ยวชาญหลายรายเชื่อว่า การที่ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาคร็อง แห่งฝรั่งเศส ออกมาให้ความเห็นว่า ประเทศในยุโรปควรลดการพึ่งพาสหรัฐฯ และพยายามหลีกเลี่ยงไม่ถูกดึงเข้าไปเกี่ยวกับการเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ในกรณีของไต้หวัน เพื่อหวังช่วยโน้มน้าวกรุงปักกิ่งให้เดินหน้าเป็นคนกลางช่วยหาทางยุติวิกฤตที่ดำเนินอยู่ในยูเครน

ความเห็นของผู้นำฝรั่งเศสในเรื่องนี้กลายมาเป็นประเด็นร้อน หลังให้สัมภาษณ์กับสื่อ Politico และหนังสือพิมพ์ภาษาฝรั่งเศส Les Escos ระหว่างเยือนจีนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังร่วมหารือกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เป็นเวลากว่า 6 ชั่วโมง โดยประเด็นนี้ทำให้นักการเมืองฝรั่งเศสบางรายและนักวิชาการจำนวนหนึ่งในยุโรปออกมาวิพากษ์วิจารณ์มาคร็องกันทันที ขณะที่ อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาให้ความเห็นระหว่างให้สัมภาษณ์กับสถานีข่าว Fox News ว่า “มาคร็อง ซึ่งเป็นเพื่อนของผม ไปอยู่ที่จีน เลียแข้งเลียขา (ปธน.สี) ในจีน ... ผมสรุปให้เลยว่า ตอนนี้ ฝรั่งเศสไปเข้าข้างจีนแล้ว”

แต่ต่อมาในวันพุธ ปธน.มาคร็อง เข้าร่วมการแถลงข่าวระหว่างการเยือนเนเธอร์แลนด์ และกล่าวย้ำว่า จุดยืนของฝรั่งเศสในเรื่องของไต้หวันยังไม่เปลี่ยนแปลง และกรุงปารีสยังคงเห็นด้วยกับสถานภาพที่เป็นอยู่ (status quo) ของไต้หวันเช่นเดิม โดยระบุว่า “เป็นเรื่องของนโยบายจีนเดียวและมติของสถานการณ์ในแปซิฟิก ผมพูดเช่นนั้นระหว่างการประชุมตัวต่อตัวกับสี จิ้นผิง เป็นสิ่งที่ผมพูดทุกที่ที่ไป เราไม่เคยเปลี่ยนแปลงอะไรเลย”

ทั้งนี้ นโยบายจีนเดียวของสหรัฐฯ นั้นแตกต่างจากหลักการจีนเดียวของกรุงปักกิ่งที่มองว่า ตนมีอธิปไตยเหนือจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน ขณะที่ กรุงวอชิงตันยอมรับสิ่งที่จีนเสนอ แต่ไม่รับรองมุมมองของปักกิ่งที่ว่า ตนมีอธิปไตยเหนือไต้หวัน โดยสหรัฐฯ มองว่า ประเด็นสถานะของไต้หวันนั้นยังเป็นสิ่งที่ยังไม่ได้ข้อสรุปในเวลานี้

อย่างไรก็ดี ทุง-เชียะ ไช่ ศาสตราจารย์จาก Graduate Institute of International Politics ที่ National Chung Hsing University ในไต้หวัน บอกกับ วีโอเอ ภาคภาษาจีนกลางว่า วิกฤตยูเครนนั้นมีผลกระทบอย่างหนักต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนในยุโรป เนื่องจากมีการหลั่งไหลเข้ามาของผู้อพยพ ขณะที่ ราคาสินค้าก็พุ่งสูง จนทำให้ผู้นำยุโรป “ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างหนัก” ให้เร่งหาทางให้เกิดการหยุดยิง

ศาสตราจารย์ ไช่ ระบุว่า ตนคิดว่า “ฝรั่งเศสกำลังมองหาแรงสนับสนุนจากกรุงปักกิ่งเพื่อให้เกิดการหยุดยิงในภาวะความขัดแย้งยูเครน จึงแสดงท่าทางสนับสนุนจีนในประเด็นไต้หวันก่อน” และว่า “หากยุโรปยังไม่สามารถจัดการกับวิกฤตยูเครน ซึ่งเกิดที่หน้าประตูบ้านของตนได้ แล้วจะมีความสามารถอะไรมายุ่งเกี่ยวกับวิกฤตในช่องแคบไต้หวันได้”

ศาสตราจารย์ ลุน จาง จากโครงการจีนศึกษาที่ CY Cergy-Paris Universite ในฝรั่งเศส เห็นด้วยกับศาสตราจารย์ ไช่ แต่ติงว่า คำพูดของมาคร็องนั้นออกมาในช่วงเวลาที่ “ไม่เหมาะอย่างที่สุด” เพราะเป็นช่วงที่จีนเพิ่งเสร็จสิ้นการซ้อมรบเป็นเวลา 3 วันด้วยการจำลองการปิดล้อมไต้หวัน ซึ่งทำให้ภาพลักษณ์ของฝรั่งเศสเสียหาย ทั้งยังให้เกิดความขัดแย้งภายในยุโรปด้วย

ขณะเดียวกัน ฟรานเซสโก ซิซชี นักวิชาการอาวุโสที่ติดตามประเด็นจีนอยู่ กล่าวว่า การเยือนจีนของมาคร็อง “เป็นความล้มเหลว” เพราะกรุงปักกิ่งไม่ได้ออกมาให้สัญญาต่อสาธารณะว่าจะช่วยเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยวิกฤติยูเครนอยู่ดี

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG