ปกติแล้วโฆษณาอาหารมักทำให้สินค้าดูใหญ่ ฉ่ำ สด หรือกรอบกว่าความเป็นจริง แต่ผู้บริโภคบางคนถือว่าเรื่องนี้อาจทำให้เกิดการเข้าใจหรือการรับรู้ผิด ๆ ได้ ซึ่งนำไปสู่คดีความมากมายต่อบริษัทอาหารเหล่านั้น
เมื่อไม่นานนี้ เบอร์เกอร์คิง (Burger King) เครือข่ายร้านฟาสต์ฟู้ดชื่อดังที่มีสาขาทั่วโลก ตกเป็นจำเลยที่รัฐฟลอริดา เมื่อมีผู้บริโภคจำนวนมากรวมตัวฟ้องร้องว่าโฆษณาของเบอร์เกอร์คิงแสดงให้เห็นว่า วอปเปอร์เบอร์เกอร์ ซึ่งเป็นสินค้าขายดีของบริษัท รวมทั้งเบอร์เกอร์แบบอื่น ๆ มีเนื้อมากเกินความเป็นจริง
และเมื่อเดือนสิงหาคม ผู้พิพากษารัฐฟลอริดาตัดสินไม่ยกฟ้องในคดีนี้ นั่นหมายความว่ากระบวนการทางกฎหมายจะต้องเดินหน้าต่อไป และแน่นอนว่าเบอร์เกอร์คิงไม่ใช่รายแรกและรายสุดท้ายที่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาลในประเด็นนี้
เพอร์กินส์ โคอี้ บริษัทกฎหมายที่เก็บข้อมูลคดีที่มีผู้เสียหายจำนวนมากรวมตัวกันฟ้องร้อง หรือ class action lawsuit ระบุว่า เมื่อปีที่แล้ว มีบริษัทอาหารและเครื่องดื่มในอเมริกาถูกฟ้องในลักษณะนี้ 214 ครั้ง และปีนี้มีการฟ้องร้องแล้ว 101 ครั้งในช่วง 6 เดือนแรกของปี ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจากปีก่อน ๆ
ปูจาร์ นาอีร์ แห่งสำนักงานกฎหมาย Ervin Cohen and Jessup ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทอาหารและเครื่องดื่มต่าง ๆ กล่าวว่า class action lawsuit เริ่มมุ่งเป้ามาที่โฆษณาอาหารเมื่อไม่กี่ปีก่อน เริ่มจากการกล่าวหาบริษัทผู้ผลิตมันฝรั่งทอดว่า หลอกลวงผู้บริโภคโดยการใส่มันฝรั่งในถุงน้อยเกินไป แต่คดีส่วนใหญ่ถูกศาลยกฟ้อง
ตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา คดีลักษณะนี้หลายร้อยคดีถูกส่งไปให้ศาลพิจารณา ส่วนใหญ่จะเป็นการฟ้องร้องในรัฐนิวยอร์ก แคลิฟอร์เนีย และอิลลินอยส์ ซึ่งผู้พิพากษามีแนวโน้มที่จะไม่ยกฟ้องในรัฐเหล่านั้น
ปูจาร์ นาอีร์ กล่าวว่า บริษัทส่วนใหญ่มักหาทางไกล่เกลี่ยยอมความเพราะไม่ต้องการเสียเวลาและเสียเงินจ้างทนายขึ้นศาล ตัวอย่างเช่นเมื่อต้นปีนี้ บริษัท เอแอนด์ดับเบิลยู (A&W) ตกลงจ่ายค่ายอมความ 15 ล้านดอลลาร์ จากข้อกล่าวหาว่าติดฉลากบนสินค้าน้ำอัดลมยี่ห้อหนึ่งว่า "ผลิตจากวานิลลา" แต่ที่จริงแล้วใช่กลิ่นสังเคราะห์ เป็นต้น
จอร์แดน ฮัดเจนส์ ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีของบริษัท แดชแทรค (Dashtrack) ผู้ออกแบบเว็บไซต์สำหรับร้านอาหารต่าง ๆ ให้ความเห็นว่า การที่ผู้บริโภคมีความตระหนักรู้มากขึ้นในด้านสุขภาพและโภชนาการ คือส่วนหนึ่งที่ทำให้คดีลักษณะนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการเผยแพร่ภาพโฆษณาเกินจริงเหล่านั้น และการแจ้งให้ผู้ร่วมฟ้องร้องคนอื่น ๆ ได้ทราบ
ในกรณีของเบอร์เกอร์คิง โจทก์ร่วมในหลายรัฐยื่นฟ้องเมื่อปี 2022 ว่ารูปภาพโฆษณาและภาพในเมนูของเบอร์เกอร์คิงนั้นแสดงให้เห็นเบอร์เกอร์ใหญ่กว่าความเป็นจริงราว 35% และมีเนื้อหลายชั้นซึ่งมากกว่าเบอร์เกอร์ที่พวกตนซื้อจริง และว่าหากรู้ก่อนว่าจะมีขนาดและปริมาณเนื้อแค่นั้นก็จะไม่ซื้อกินอย่างแน่นอน
ทางโฆษกของเบอร์เกอร์คิงออกมาตอบโต้ว่า คำกล่าวหาของบรรดาโจทก์ร่วมนั้นไม่ถูกต้อง และยืนยันว่าชิ้นเนื้อที่เห็นในโฆษณาคือแบบเดียวกับที่ขายให้ลูกค้าตามร้านสาขาทั่วประเทศ
ด้าน เจฟฟ์ แกลลัก อาจารย์แห่งภาควิชาการตลาด มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน (Carnegie Mellon University) ระบุว่า คดีของเบอร์เกอร์คิงนี้อาจจะทำให้บริษัทอาหารต่าง ๆ ระมัดระวังกับการโฆษณาสินค้าของตนมากขึ้น ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ ยอดขายที่ลดลงเมื่อใช้สินค้าจริงมาโฆษณา
- ที่มา: เอพี