เสียงไซเรนเตือนภัยการโจมตีทางอากาศดังขึ้นทั่วกรุงเคียฟในวันศุกร์ ในช่วงที่คณะผู้นำจากประเทศในแอฟริกาเดินทางถึงเพื่อเข้าพบกับผู้นำรัฐบาลยูเครนในภารกิจเจรจาสันติภาพที่จะช่วยยุติสงครามระหว่างมอสโกและเคียฟที่ดำเนินมากว่า 15 เดือนแล้ว ขณะที่ องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) เปิดตัวทีมงานพิเศษที่รับผิดชอบดูแลท่อส่งและสายไฟใต้ทะเล เนื่องจากความกังวลว่า กองทัพรัสเซียอาจตัดสินใจก่อวินาศกรรมทำลายโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้
วิตาลี คลิตช์โก นายกเทศมนตรีกรุงเคียฟ โพสต์ข้อความผ่านสื่อสังคมออนไลน์เทเลแกรมแจ้งเหตุระเบิดที่เขตโพดิล ใจกลางเมืองหลวงของยูเครน พร้อมระบุว่า “ขีปนาวุธหลายลูกกำลังบินเข้าใส่เคียฟ”
และในวันศุกร์ สมาชิกคณะผู้แทนสันติภาพจากแอฟริกาเดินทางถึงกรุงเคียฟแล้วเพื่อประชุมกับประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี โดยคณะดังกล่าวประกอบด้วย ซีริล รามาโพซา ประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ แม็กคีย์ ซัลล์ ประธานาธิบดีเซเนกัล ไฮคานเด ฮิชิเลมา ประธานาธิบดีแซมเบีย และอะซาลีย์ อัสซุมานีย์ ประธานาธิบดีคอโมโรส ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานสหภาพแอฟริกาอยู่ด้วย รวมทั้งตัวแทนของประธานาธิบดีคองโก อียิปต์และยูกานดา
หลังการหารือกับปธน.เซเลนสกี คณะผู้แทนสันติภาพแอฟริกามีกำหนดเดินทางต่อไปยังรัสเซียเพื่อพบกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า คณะทำงานสร้างสันติภาพจากแอฟริกาได้ร่างข้อเสนอและเอกสารการเจรจาสันติภาพไว้แล้ว โดยมีเงื่อนไขว่า ทหารรัสเซียต้องถอนกำลังกลับและศาลอาญาระหว่างประเทศจะต้องระงับการบังคับใช้หมายจับปธน.ปูตินไว้ชั่วคราวด้วย
นาโต้เปิดตัวศูนย์เฝ้าระวังท่อส่งก๊าซ/เคเบิลใต้ทะเล
ขณะเดียวกัน องค์การนาโต้ เปิดตัวศูนย์ปฏิบัติการแห่งใหม่ในวันศุกร์ เพื่อทำหน้าที่ปกป้องท่อส่งและสายเคเบิลใต้ทะเล เนื่องจากความกังวลว่า รัสเซียอาจวางแผนโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและอินเทอร์เน็ตของชาติตะวันตกที่อยู่ในน่านน้ำรอบ ๆ ยุโรป หลังเกิดกรณีการโจมตีท่อส่งก๊าซนอร์ธ สตรีม (North Stream) เมื่อก่อนหน้า
การจัดตั้งหน่วยพิเศษนี้เกิดขึ้นหลังที่ประชุมรัฐมนตรีกลาโหมนาโต้มีมติอนุมัติแผนงานดังกล่าว โดยหน่วยนี้จะมีที่ทำการในเขตนอร์ธวู้ด (Northwood) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงลอนดอน และมีพลโทฮันส์-เวอร์เนอร์ ไวเออร์แมนน์ เป็นผู้รับผิดชอบดูแล
พลโท ไวเออร์แมนน์ บอกกับผู้สื่อข่าวว่า “ภัยคุกคามนี้กำลังเดินหน้าก่อตัวขึ้นแล้ว” และว่า “เรือของรัสเซียได้จัดทำแผนที่โครงสร้างพื้นฐานสำคัญใต้ทะเลไว้แล้ว ทำให้เกิดความกังวลหนักขึ้นว่า รัสเซียอาจพุ่งเป้า[โจมตีไปยัง]สายเคเบิลและโครงสร้างพื้นฐานสำคัญอื่น ๆ ใต้ทะเล เพื่อก่อกวนชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศตะวันตก”
เมื่อเดือนกันยายนของปีที่แล้ว เกิดเหตุการโจมตีท่อส่งก๊าซนอร์ธ สตรีม 1 และนอร์ธ สตรีม 2 ซึ่งอยู่ในทะเลบอลติก และทำหน้าที่ส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียไปยังเยอรมนี โดยมีการเปิดสอบสวนสาเหตุของเรื่องนี้แล้ว แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ และยังไม่มีการกล่าวโทษฝ่ายใดอย่างเป็นทางการด้วย
อย่างไรก็ดี นาโต้ได้เสริมกำลังเฝ้าระวังในทะเลบอลติกและทะเลเหนือหลังเกิดเหตุดังกล่าว ด้วยการส่งเรือรบหลายสิบลำและเครื่องบินตระเวณตรวจการณ์ทางทะเล รวมทั้งอุปกรณ์ใต้น้ำต่าง ๆ เช่น โดรน ไปคอยจับตาดูสถานการณ์ความเรียบร้อยแล้ว
รายงานข่าวระบุว่า ท่อส่งก๊าซและน้ำมันใต้ทะเลเหนือแห่งเดียวมีระยะทางรวมกันถึงราว 8,000 กิโลเมตร ขณะที่ ระบบต่าง ๆ รวมทั้งโครงข่ายของท่อส่งนี้กินพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลจนทำให้การตรวจตราเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมงเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้เลย
ในแต่ละปี มีรายงานการเกี่ยวกับการตัดสายเคเบิลใต้ทะเลทั่วโลกถึงราว 100 ครั้ง และไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความจงใจของฝ่ายใดหรือไม่
เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต้บอกกับผู้สื่อข่าวหลังเสร็จสิ้นการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมว่า “ไม่มีทางที่เราจะส่งกำลังนาโต้ไปประจำตลอดเส้นทางหลายพันกิโลเมตรของโครงสร้างพื้นฐานใต้ทะเลเหล่านี้” และว่า “แต่เราก็ยังควรคอยเก็บ...ข่าวกรอง แบ่งปันข้อมูล เชื่อมต่อจุดต่าง ๆ เพราะ แม้แต่ในภาคเอกชน ก็มีข้อมูลอยู่มากมาย” เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของเรือต่าง ๆ และระบบเฝ้าระวังทางทะเลด้วย
สำหรับศูนย์ปฏิบัติการใหม่นี้ หน้าที่รับผิดชอบหลักนั้นไม่ใช่การพยายามเฝ้าระวังทุกจุด แต่จะเน้นเฉพาะจุดที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะท่อส่งที่อยู่ในน้ำตื้นซึ่งนักประดาน้ำสามารถดำลงไปถึง
ทีมตรวจการณ์โรงไฟฟ้าซาปอริซห์เชียฝ่าดงกระสุน
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา คณะผู้ตรวจสอบจากองค์การสหประชาชาติที่เพิ่งเสร็จสิ้นภารกิจตรวจสอบโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ซาปอริซห์เชีย ซึ่งนำโดย ราฟาเอล กรอสซี ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency – IAEA) ต้องหยุดเดินทางกลับพื้นที่ที่กองทัพยูเครนดูแลระยะหนึ่ง หลังเกิดเสียงปืนดังขึ้นระหว่างทาง
โฆษกของ IAEA ยืนยันกับรอยเตอร์ว่า คณะผู้ตรวจสอบดังกล่าวไม่ได้ตกอยู่ในอันตรายใด ๆ และไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าว Tass ของรัฐบาลรัสเซีย อ้างข้อมูลจาก เรนาต คาร์ชา ที่ปรึกษาผู้บริหารบริษัท โรเซนเนอร์โกอะตอม (Rosenergoatom) รายงานว่า ยูเครนคือ ฝ่ายที่ยิงเข้าใส่ขบวนผู้ตรวจสอบยูเอ็น โดยไม่ได้นำเสนอหลักฐานสนับสนุนคำกล่าวอ้างนี้
ข้อมูลบางส่วนมาจาก เอพี เอเอฟพีและรอยเตอร์