ลิ้งค์เชื่อมต่อ

หลายชาติอาเซียนเมินร่วมประชุมเมียนมาที่ไทยท่ามกลางเสียงวิจารณ์


FILE - Thailand's Foreign Minister Don Pramudwinai attends the Asia-Pacific Economic Cooperation summit in Bangkok, Nov. 19, 2022. Thailand's caretaker government hosted the foreign minister of Myanmar's ruling junta at informal regional peace talks in Pattaya, June 18, 2023.
FILE - Thailand's Foreign Minister Don Pramudwinai attends the Asia-Pacific Economic Cooperation summit in Bangkok, Nov. 19, 2022. Thailand's caretaker government hosted the foreign minister of Myanmar's ruling junta at informal regional peace talks in Pattaya, June 18, 2023.

ในวันจันทร์นี้ รัฐบาลรักษาการของไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอย่างไม่เป็นทางการเพื่อหารือผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา ในขณะที่หลายประเทศในอาเซียนเลี่ยงที่จะเข้าร่วมประชุมหลังเกิดเสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวาง

ในช่วงเกือบสองปีที่ผ่านมา ผู้นำทหารเมียนมาถูกปฏิเสธการเข้าร่วมในการประชุมระดับสูงของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน เนื่องจากไม่ปฏิบัติตาม 'ฉันทามติ 5 ข้อ' และไม่เริ่มการเจรจากับฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองซึ่งมีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลพลเรือนที่ถูกยึดอำนาจ

แต่รัฐบาลไทยได้เชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลทหารเมียนมา ตาน สเว ร่วมการเจรจากับประเทศสมาชิกอื่น ๆ ของอาเซียน ในวันจันทร์นี้ อ้างอิงจากการเปิดเผยของแหล่งข่าวต่อรอยเตอร์

กระทรวงการต่างประเทศของไทยค่อนข้างปิดปากเงียบว่ามีผู้แทนประเทศใดที่จะเดินทางมาร่วมการเจรจาครั้งนี้บ้าง ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นเวลาสองวันที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี โดยรายงานจากรอยเตอร์เผยว่า รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ดอน ปรมัตถ์วินัย ส่งเทียบเชิญก่อนที่จะมีการประชุมเพียง 4 วัน

เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศของไทย ระบุในวันอาทิตย์ว่า การประชุมครั้งนี้จะมีผู้แทนระดับสูงจาก ลาว กัมพูชา เมียนมา อินเดีย จีน บรูไน เวียดนาม เข้าร่วม

รัฐมนตรีดอน กล่าวกับสื่อในประเทศไทยว่า การหารืออย่างไม่เป็นทางการครั้งนี้มิได้มาแทนความพยายามแก้ปัญหาในเมียนมาที่มีอาเซียนรับบทบาทนำ และบรรดาประเทศสมาชิกมีอิสระที่จะเข้าร่วมหรือไม่ก็ได้

รัฐมนตรีดอนให้สัมภาษณ์กับสื่อมติชนว่า “สถานการณ์ในปัจจุบันมันเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก ขณะนี้มีการต่อสู้และสู้รบภายในประเทศเมียนมามากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นพวกชนกลุ่มน้อยไม่ใช่เฉพาะกลุ่มที่มีประเด็นเรื่องการเมืองเท่านั้น ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติตามแนวชายแดน ตั้งแต่การค้าอาวุธ ค้ามนุษย์ ค้ายาเสพติดก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก เมียนมาเองก็ยังมีโรดแมปเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง และเคยแจ้งความคืบหน้าในสิ่งที่เขาได้ดำเนินการไปให้รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนรับทราบ สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเหตุให้เราเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับเมียนมาต่อไป”

นักวิจารณ์บางคนชี้ว่า การหารือครั้งนี้อาจสร้างความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การยอมรับรัฐบาลทหารเมียนมา และไม่สมควรจัดขึ้นเนื่องจากมิได้รวมอยู่ในข้อตกลงของอาเซียนเพื่อสร้างสันติภาพในเมียนมา ที่รู้จักภายใต้ชื่อ 'ฉันทามติ 5 ข้อ'

หลายคนยังตั้งคำถามว่าทำไมไทยจึงตัดสินใจให้มีการเจรจาในตอนนี้ เพราะอีกไม่นานไทยก็จะมีรัฐบาลชุดใหม่ซึ่งคาดว่าเป็นเดือนสิงหาคม

รอยเตอร์รายงานว่า อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ รวมทั้งสิงคโปร์และมาเลเซีย ต่างปฏิเสธเข่าร่วมการประชุมที่พัทยา โดยรัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ วิเวียน บาลากริชนัน กล่าวเมื่อวันศุกร์ว่า "ยังไม่ถึงเวลาอันควรที่จะให้รัฐบาลทหารเมียนมาเข้าร่วมประชุมทั้งในระดับผู้นำประเทศ หรือระดับรัฐมนตรีต่างประเทศก็ตาม"

ขณะที่เวียดนามกล่าวว่า รัฐมนตรีต่างประเทศของเวียดนามจะไม่เข้าร่วมการประชุม ส่วนฟิลิปปินส์ซึ่งยังไม่ยืนยันชัดเจน ถูกมองว่ายืนอยู่ในฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาเช่นกัน

ทางด้าน นันทิวัฒน์ สามารถ อดีตเลขารัฐมนตรีต่างประเทศของไทย กล่าวในวันอาทิตย์ว่า เมียนมาไม่สมควรถูกโดดเดี่ยวอย่างสิ้นเชิง หรือถูกตัดออกจากสมาคมอาเซียน อ้างอิงจากสื่อเนชั่นทีวี

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government) ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยผู้ที่สนับสนุนรัฐบาลพลเรือนของออง ซาน ซู จี มีแถลงการณ์ประณามการเจรจาที่ไทยเป็นเจ้าภาพ โดยชี้ว่า "การเชิญรัฐบาลทหารที่ไม่มีความชอบธรรมไปหารือในครั้งนี้มิได้ช่วยแก้ไขวิกฤตการเมืองในเมียนมาแต่อย่างใด"

ในวันอาทิตย์ องค์กรที่ประกอบด้วยกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง 81 กลุ่มในเมียนมา เผยจดหมายเปิดผนึกที่ประณาม "การเจรจาลับ" ครั้งนี้โดยระบุว่า "แตกต่างอย่างชัดเจนต่อนโยบายของอาเซียนที่กีดกันผู้แทนรัฐบาลทหารเมียนมาจากการประชุมระดับสูงต่าง ๆ

พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลรักษาการของไทย "ยกเลิกการประชุมนี้ทันที"

  • ที่มา: รอยเตอร์, มติชน, เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศของไทย
XS
SM
MD
LG