กองทัพเมียนมาเดินหน้าทำการโจมตีทางอากาศเข้าใส่กลุ่มติดอาวุธและแนวร่วมพลเรือนที่ออกมาต่อต้านตนอย่างต่อเนื่อง แต่องค์กรสิทธิมนุษยชนและนักวิเคราะห์หลายรายระบุว่า ผู้ที่ตกเป็นเป้าโจมตีดังกล่าวกลับเป็นพลเรือนตาดำ ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลทหารที่ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลพลเรือนมากว่า 2 ปีกำลังมีปัญหาหนักในการควบคุมสถานการณ์และปฏิบัติการที่ว่ามีแต่จะทำให้กระแสต่อต้านทหารรุนแรงขึ้น
เดวิด ยูแบงค์ อดีตเจ้าหน้าที่หน่วยรบพิเศษสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันเป็นหัวหน้าทีมของ Free Burma Rangers ซึ่งเป็นกลุ่มผู้นับถือศาสนาคริสต์ที่ทำงานด้านการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงทางภาคตะวันออกของเมียนมามากว่า 30 ปี บอกกับ วีโอเอ ว่า “การโจมตีทางอากาศของกองทัพพม่านั้นไปไกลเกินกว่าที่เราเคยเห็นมาในพม่าแล้ว .... มันเป็นการโจมตีแบบสุดกำลัง ไม่มีวันไหนตั้งแต่เรามาอยู่ที่นี่ ที่จะไม่มีเหตุการณ์ระเบิดที่จุดใดจุดหนึ่ง”
ขณะเดียวกัน International Institute for Strategic Studies ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยจากอังกฤษ ที่เก็บรวบรวมสถิติการต่อสู้ในเมียนมาตั้งแต่เกิดเหตุรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 2021 รายงานว่า ในระหว่างเดือนมกราคมและเดือนเมษายนของปีนี้ เกิดการโจมตีทางอากาศโดยกองทัพเมียนมาเฉลี่ยเดือนละถึง 49 ครั้ง ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยเดือนละ 39 ครั้งในปีที่แล้วราว 25%
ส่วนกลุ่ม Armed Conflict Location and Event Data Project (ACLED) ซึ่งเป็นโครงการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลรวมทั้งจัดทำแผนที่วิกฤตต่าง ๆ จากสหรัฐฯ ชี้ว่า จำนวนรวมของการโจมตีทางอากาศในเมียนมาในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นถึง 150 ครั้ง ซึ่งสูงกว่าทุกไตรมาสนับตั้งแต่หลังการก่อรัฐประหารมา
นอกจากจำนวนครั้งของการโจมตีทางอากาศที่เพิ่มขึ้นแล้ว ACLED ยังพบว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตพุ่งสูงตามไปด้วย โดยในไตรมาสแรกของปีนี้ มีผู้เสียชีวิตในเมียนมาถึง 146 คน ขณะที่ ตัวเลขนับตั้งแต่สิ้นเดือนมีนาคมเป็นต้นมาอยู่ที่ 330 คนแล้ว
อย่างไรก็ดี โฆษกของกองทัพเมียนมาอ้างว่า การโจมตีทางอากาศที่ผ่านมานั้นพุ่งเป้าไปยังกลุ่มติดอาวุธต่อต้านรัฐบาล และการที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตพุ่งสูงนั้นเป็นเพราะมีการโจมตีคลังระเบิดต่าง ๆ ของฝ่ายต่อต้าน
แมทธิว อาร์โนลด์ นักวิเคราะห์อิสระด้านความมั่นคง ให้ความเห็นว่า กองทัพเมียนมาเร่งทำการโจมตีทางอากาศเพื่อชดเชยการสูญเสียการควบคุมสถานการณ์ภาคพื้นดิน เนื่องจากการขาดแคลนพาหนะลำเลียงพลหุ้มเกราะเพื่อรับมือกับกลยุทธ์ซุ่มโจมตีของฝ่ายต่อต้านที่หันมาวางระเบิดข้างถนน และส่งโดรนทิ้งระเบิดใส่กองกำลังภาคพื้นดินอย่างมีประสิทธิภาพ
คลินิก โรงเรียน และโบสถ์ – เป้าการโจมตีของกองทัพเมียนมา
และขณะที่การโจมตีทางอากาศโดยกองทัพเมียนมามีความถี่มากขึ้นนี้ กลุ่มให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่าง ๆ ยืนยันว่า พลเรือนกลับกลายมาเป็นเป้าหมายความรุนแรงเหล่านี้
ซาไล ซา อุค ลิง รองผู้อำนวยการ Chin Human Rights Organization ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลท้องถิ่นของเมียนมาที่มุ่งนำส่งอาหาร ยาและความช่วยเหลือจำเป็นต่าง ๆ ให้กับผู้พลัดถิ่นในพื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา การโจมตีทางอากาศส่วนใหญ่นั้นเกิดขึ้นตามจุดที่มีพลเรือนรวมตัวอยู่กันเป็นจำนวนมาก เช่น โบสถ์ โรงเรียนและโรงพยาบาล ซึ่งล้วนเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในแต่ละหมู่บ้าน พร้อมระบุว่า “เราได้เห็น ... การโจมตีทางอากาศที่เพิ่มขึ้นแม้แต่ในบริเวณที่ไม่มีกลุ่มต่อต้านอยู่เลยก็ตาม”
เปียก ฉุง เหลียน เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในรัฐชิน ซึ่งอยู่ใกล้กับค่ายวิกตอเรียที่เป็นฐานที่มั่นของกลุ่มต่อต้านติดอาวุธกลุ่มหนึ่ง บอกกับ วีโอเอ ว่า กองทัพเมียนมาทำการโจมตีทางอากาศใส่โรงพยาบาลเมื่อวันที่ 11 มกราคม และระเบิดลูกใหญ่ลูกหนึ่งได้ทำลายอาคารผู้ป่วยนอกไปด้วย แต่เคราะห์ดีที่ว่า เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลทำการอพยพผู้ป่วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเรือน ออกจากตัวโรงพยาบาลไปก่อนหน้า มิฉะนั้น จะมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก
นักวิเคราะห์เชื่อว่า กองทัพเมียนมาจะเดินหน้าปฏิบัติการเช่นนี้ต่อไปเรื่อย ๆ หลังมีรายงานว่า เมียนมามีการสั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์มูลค่าราว 1,000 ล้านดอลลาร์นับตั้งแต่ก่อรัฐประหารมา
ทอม แอนดรูว์ส ผู้เสนอรายงานพิเศษว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติประจำเมียนมา ระบุในรายงานที่ออกมาในเดือนพฤษภาคมว่า อาวุธส่วนใหญ่ที่รัฐบาลทหารเมียนมาสั่งซื้อจากรัสเซียและจีนซึ่งเป็นซัพพลายเออร์หลัก คือ เครื่องบินรบ เฮลิคอปเตอร์โจมตี และชิ้นส่วนอะไหล่สำหรับยุทโธปกรณ์เหล่านี้ ซึ่งเป็นการยืนยันว่า “พวกเขาไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ทางภาคพื้นดินได้ ดังนั้น พวกเขาจะหวังจะชดเชยด้วยการจัดหาความได้เปรียบทางอากาศแทน”
อย่างไรก็ดี แมทธิว อาร์โนลด์ นักวิเคราะห์อิสระด้านความมั่นคง เชื่อว่า แผนการดังว่าของกองทัพเมียนมาไม่น่าจะได้ผลดังหวัง เพราะการขาดซึ่งการประสานงานระหว่างกองกำลังทางภาคพื้นดินและทางอากาศที่จะช่วยจัดการกับเป้าหมายศัตรูได้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะในพื้นที่หุบเขาที่บรรดากองกำลังต่อต้านซ่อนตัวอยู่ ขณะที่ การที่เฝ้าโจมตีเข้าใส่พลเรือนอย่างซ้ำ ๆ นั้นน่าจะยิ่งทำให้ระดับความไม่พอใจของประชาชนต่อกองทัพยิ่งแผ่ขยายออกไปอีก
อาร์โนลด์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “โดยหลัก ๆ แล้ว ไม่เคยมีกรณีที่การก่อการร้ายหรือการก่อกบฏใด ๆ ที่ถูกปราบจนราบคาดด้วยการโจมตีทางอากาศเลย” และว่า “แน่นอน [การโจมตีทางอากาศ] ก่อความเสียหายได้ และส่วนใหญ่ก็เป็นในหมู่ประชากรพลเรือน แต่นั่นก็ไม่ได้เพียงพอที่จะชดเชยการขาดซึ่งความสามารถในการควบคุม[ปฏิบัติการ]ภาคพื้นดินได้มากพอเลย”
- ที่มา: วีโอเอ