ในรายงานชิ้นล่าสุด องค์การอนามัยโลกชี้ว่ามีคนป่วยเป็นวัณโรค 9 ล้านคนทั่วโลกและมีคนเสียชีวิตด้วยโรคนี้ถึงหนึ่งล้านห้าแสนคน โดยพบผู้ติดเชื้อมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แต่วัณโรคสายพันธุ์ที่มีความร้ายแรงถึงชีวิตมากที่สุดพบในแอฟริกา
การบำบัดผู้ป่วยวัณโรคต้องใช้ยาบำบัดหลายตัวร่วมกันโดยมักใช้ยาบำบัดนานหกเดือน ผู้ป่วยต้องรับประทานยาเป็นจำนวนมากแต่เมื่อรู้สึกดีขึ้น มักจะเลิกรับประทานยากลางคัน
เมื่อผู้ป่วยวัณโรครับประทานยาไม่ครบตามกำหนดเวลารักษา วัณโรคจะดื้อยา นี่ทำให้บรรดานักวิทยาศาสตร์พยายามพัฒนายาบำบัดวัณโรคที่ไม่ต้องรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน
คุณ Clifton Barry แห่งสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐ (U.S. National Institute of Allergy and Infectious Disease) หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าทีมวิจัยพยายามพัฒนาวิธีการประเมินผลการรักษาแบบใหม่เพื่อระบุระยะเวลาที่คนไข้วัณโรคแต่ละคนจำเป็นต้องใช้ยาบำบัดที่ผสมผสานกันหลายขนานและเป็นการย่นระยะเวลาการบำบัดลง
คุณ Barry และทีมนักวิจัยใช้เทคโนโลยีการสแกนร่างกายผู้ป่วยแบบ PET และ CT scan ที่สามารถถ่ายภาพสแกนร่างกายของผู้ป่วยวัณโรคที่เข้าร่วมการทดลองรักษา ภาพสแกนร่างกายที่ทันสมัยนี้ช่วยให้นักวิจัยสามารถมองเห็นได้ทันทีว่ายาที่ใช้บำบัดผู้ป่วยได้ผลในการรักษาการติดเชื้อวัณโรคหรือไม่ นี่เป็นเทคนิคเดียวกับที่ทีมวิจัยยาบำบัดมะเร็งใช้
คุณ Barry กล่าวว่าทีมวิจัยพยายามทำความเข้าใจว่าลักษณะการตอบสนองต่อยาบำบัดแบบใดเป็นการตอบสนองที่ส่อว่ายาได้ผลในการรักษา เพื่อให้สามารถระบุได้ว่าการใช้ยาบำบัดแบบผสมผสานขนานใดได้ผลดี
หลังจากที่ทีมนักวิจัยพบว่าเทคโนโลยีการถ่ายภาพสแกนแบบ PET และ CT สแกนมีประโยชน์ในการช่วยประเมินประสิทธิภาพของยาวัณโรคที่ใช้บำบัดคนไข้ คุณ Barry และทีมงานจะเริ่มทำการทดลองใช้เทคโนโลยีการสแกนร่างกายคนไข้ร่วมกับการบำบัดวัณโรคด้วยยาขนานต่างๆ ในประเทศแอฟริกาใต้เพื่อเปรียบเทียบวิธีการประเมินผลการรักษาวิธีใหม่นี้กับวิธีการประเมินแบบเดิม