การเปิดตัวของภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ในฤดูร้อนปีนี้ “บาร์บี้” ในตลาดหนังญี่ปุ่นต้องเจอกับแรงต้านล่าสุด หลังจากมีการยื่นคำร้องบนโลกออนไลน์เรียกร้องให้ค่ายหนังยกเลิกการทำการตลาดภาพยนตร์ที่หยิบเอาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ด้วยนิวเคลียร์มาทำเป็นเรื่องตลก
คำร้องที่ปรากฎในเว็บไซต์ Change.org ล่าลายเซนต์ได้มากกว่า 16,000 รายชื่อแล้วเมื่อวันพฤหัสบดี เรียกร้องให้วอเนอร์ บราเธอร์ส และยูนิเวอร์แซล พิกเจอร์ส ที่อยู่เบื้องหลังภาพยนตร์ ออพเพนไฮเมอร์ (Oppenheimer) ให้ยุติการโปรโมตแฮชแทค Barbenheimer ที่ส่งเสริมการตลาดภาพยนตร์ดัง 2 เรื่องนี้
ทั้งนี้ ภาพยนตร์ “บาร์บี้” นำแสดงโดยมาร์โก ร็อบบี้ ทำรายได้มากกว่า 800 ล้านดอลลาร์ทั่วโลก ขณะที่ภาพยนตร์ชีวประวัตินักวิทย์ด้านนิวเคลียร์ “ออพเพนไฮเมอร์” ทำรายได้ทะลุ 400 ล้านดอลลาร์ทั่วโลกไปแล้ว
การโปรโมตภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องที่เป็นประเด็น คือ มีมที่แฟนหนังทำขึ้น ซึ่งนำภาพของร็อบบี้ ในบทบาร์บี้ เคียงคู่กับคิลเลียน เมอร์ฟีย์ นักแสดงผู้รับบทนำจากออพเพนไฮเมอร์ โดยมีภาพของระเบิดนิวเคลียร์อยู่ในนั้นด้วย ซึ่งสร้างความไม่พอใจกับแฟนหนังในญี่ปุ่นเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการทำการตลาดในช่วงที่ใกล้ครบรอบ 78 ปี การทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ ในวันที่ 6 สิงหาคมนี้
หลังภาพดังกล่าวปรากฏบนโลกออนไลน์ เกิดแฮชแทค #NoBarbenheimer ขึ้นตามมา และมีผู้แชร์ต่อมากกว่า 100,000 ครั้ง เรียกร้องให้วอเนอร์ บราเธอร์สในญี่ปุ่นเข้าจัดการเรื่องนี้ และตามมาด้วยแถลงการณ์ขอโทษในที่สุด
ในวันเดียวกันนี้ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำญี่ปุ่น ได้โพสต์ภาพการหารือที่กรุงโตเกียวกับเกรตา เกอร์วิก ผู้กำกับหญิงของภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่ได้รับเสียงตอบรับที่ไม่ดีนัก แต่สถานทูตสหรัฐฯ ประจำญี่ปุ่นพยายามจะปรับสถานการณ์ให้ดีขึ้นด้วยการเผยว่าทูตและครอบครัวไปชมภาพยนตร์ บาร์บี้ และโอบรับสิ่งที่ภาพยนตร์ต้องการจะสื่อนั่นคือการสร้างพลังหญิง
โคจิ มารุยามะ ระบุบนเว็บไซต์ Change.org ว่า “หากใครจะสร้างภาพงานศิลป์ของบาร์เบนไฮเมอร์ มันไม่ควรเป็นบาร์บี้ที่เบิกบานในเมฆรูปเห็ด” และว่า “บาร์บี้ไม่ควรเป็นตัวละครที่ยินดีกับความโชคร้ายหรือโศกนาฏกรรมเลย”
สำหรับการเปิดตัวของภาพยนตร์บาร์บี้ในญี่ปุ่นจะมีขึ้นวันที่ 11 สิงหาคมนี้ แต่วันเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ของออพเพนไฮเมอร์ ยังไม่มีกำหนดออกมาอย่างเป็นทางการ เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกวิจารณ์ในวงกว้างว่าเพิกเฉยต่อการทำลายล้างของนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นในช่วงก่อนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนว่า 200,000 คนในตอนนั้น
- ที่มา: รอยเตอร์