ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เพื่อนบ้านจับตามอง! เมื่อญี่ปุ่นได้ไฟเขียวปล่อยน้ำปนเปื้อนกากปรมาณูลงทะเล


Rafael Mariano Grossi, Director-General of the IAEA, left, presents IAEA's comprehensive report on Fukushima Treated Water Release to Japanese Prime Minister Fumio Kishida, at the prime minister's office, July 4, 2023, in Tokyo.
Rafael Mariano Grossi, Director-General of the IAEA, left, presents IAEA's comprehensive report on Fukushima Treated Water Release to Japanese Prime Minister Fumio Kishida, at the prime minister's office, July 4, 2023, in Tokyo.

สำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ ไอเออีเอ (International Atomic Energy Agency) รับรองขั้นสุดท้ายต่อแผนของรัฐบาลญี่ปุ่นที่จะปล่อยน้ำเสียที่ได้รับการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิม่าไดอิชิ ลงมหาสมุทรแปซิฟิก

ญี่ปุ่นหวังว่าการรับรองจากไอเออีเอจะช่วยคลายความกังวลของบรรดาประเทศเพื่อนบ้านและประชาชนญี่ปุ่นเอง รวมทั้งชุมชนชาวประมงที่ต่อต้านโครงการดังกล่าว

ราฟาเอล กรอสซี ผู้อำนวยการไอเออีเอ กล่าวจากกรุงโตเกียวว่า แผนปล่อยน้ำเสียของญี่ปุ่นสอดคล้องตามมาตรฐานด้านความปลอดภัยของไอเอเอีเอว่าด้วยผลกระทบของกัมมันตภาพรังสีต่อสิ่งแวดล้อม

กรอสซีส่งมอบรายงานการตรวจสอบขั้นตอนสุดท้ายให้กับนายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะ ในวันอังคาร ก่อนที่จะมีการตัดสินใจว่าจะเริ่มปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เมื่อใด โดยผู้นำญี่ปุ่นรับปากว่าจะปล่อยน้ำเสียเหล่านั้นลงทะเลก็ต่อเมื่อแน่ใจว่าไม่มีอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์

"ญี่ปุ่นจะยังคงอธิบายเรื่องนี้ต่อประชาชนญี่ปุ่นและประชาคมโลกอย่างจริงใจต่อไป... โดยอ้างอิงตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และด้วยความโปร่งใสในระดับสูง" นายกฯ คิชิดะกล่าวต่อสื่อมวลชนในวันอังคาร

กระบวนการปั๊มและกรองน้ำก่อนที่จะปล่อยลงสู่ทะเล เรียกว่า Advanced Liquid Processing System หรือ ALPS จะใช้วิธีกรองกัมมันตรังสีออกจากน้ำปนเปื้อนแล้วนำไปเจือจางจนต่ำกว่าระดับมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนด ก่อนที่จะปล่อยลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก

คาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลาราว 30-40 ปี เนื่องจากปริมาณน้ำเสียมหาศาลหลายล้านตันที่บรรจุอยู่ในถังน้ำขนาดใหญ่จำนวน 1,000 ลูกตามแนวชายฝั่งด้านตะวันออกของญี่ปุ่น

บรรษัทการไฟฟ้ากรุงโตเกียว หรือ TEPCO (Tokyo Electric Power Company) จะเป็นผู้บำบัด ทำให้เจือจาง และปล่อยน้ำเสียในจำนวนที่ควบคุมไว้ โดยน้ำเหล่านั้นถูกใช้ในการหล่อเย็นแกนปฏิกรณ์ปรมาณูของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิม่า หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิถล่มชายฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่นเมื่อปี 2011 สร้างความเสียหายให้กับเตาปฏิกรณ์ทั้งสามแห่งของโรงไฟฟ้าดังกล่าว ซึ่งถือเป็นวิกฤตด้านนิวเคลียร์ครั้งร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่เหตุการณ์ระเบิดที่โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลเมื่อปี 1986

South Korean fishermen stage a rally against Japanese government's decision to release treated radioactive water from Fukushima nuclear power plant, in front of the National Assembly in Seoul, South Korea, Monday, June 12, 2023. (AP Photo/Ahn Young-joon)
South Korean fishermen stage a rally against Japanese government's decision to release treated radioactive water from Fukushima nuclear power plant, in front of the National Assembly in Seoul, South Korea, Monday, June 12, 2023. (AP Photo/Ahn Young-joon)

ผู้สนับสนุนแผนปล่อยน้ำเสียระบุถึงความจำเป็นเร่งด่วนของโครงการนี้ หลังจากที่ TEPCO ยืนยันว่าจะไม่มีพื้นที่เก็บน้ำเสียเหล่านั้นอีกต่อไปหลังจากครึ่งปีแรกของปี 2024

แต่บรรดาผู้คัดค้าน รวมถึงประชาชนในจีน เกาหลีใต้ และประเทศหมู่เกาะในแปซิฟิก แสดงความกังวลต่อข้อมูลด้านความปลอดภัยที่ไม่เพียงพอในการประเมินผลกระทบจากเรื่องนี้ รวมถึงอันตรายในระยะยาวจากกัมมันตรังสี ตลอดจนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลและสัตว์น้ำต่าง ๆ

กระทรวงต่างประเทศจีนมีแถลงการณ์ในวันอังคารหลังคำประกาศของไอเออีเอ แสดงความเสียใจที่มีการรับรองแผนปล่อยน้ำเสีย พร้อมเตือนว่าญี่ปุ่นจะต้องรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ ในการเยือนญี่ปุ่นเป็นเวลา 4 วัน ผอ.ไอเอเอีเอ ยังจะทำพิธีเปิดสำนักงานถาวรของไอเออีเอที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิม่าในวันพุธนี้ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบและประเมินกิจกรรมต่าง ๆ ในการปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเลในช่วงหลายสิบปีจากนี้ด้วย

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG