ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สื่อต่างชาติเผยรายงาน 'คุกไทย' บังคับ-ข่มขู่นักโทษผลิตอวนจับปลา


Inmates sit on the floor during an inspection visit in the long-term sentence zone inside Klong Prem high-security prison in Bangkok, Thailand July 12, 2016.
Inmates sit on the floor during an inspection visit in the long-term sentence zone inside Klong Prem high-security prison in Bangkok, Thailand July 12, 2016.

รายงานของมูลนิธิธอมสัน รอยเตอร์ (Thomson Reuters Foundation) ที่เผยแพร่ในวันพฤหัสบดี ( 23 ธ.ค.) เปิดเผยเรื่องราวเกี่ยวกับนักโทษในเรือนจำของไทยซึ่งถูกบังคับให้ผลิตอวนจับปลาให้กับบริษัทเอกชนหลายแห่ง ภายใต้การข่มขู่ว่าจะถูกลงโทษ รวมถึงการทุบตีทำร้าย หรือชะลอการปล่อยตัวเป็นอิสระ

รายงานระบุว่า เรือนจำในหลายจังหวัดต่างใช้นักโทษในการผลิตสินค้าต่าง ๆ ตามสัญญาที่ทำไว้กับบริษัทอุตสาหกรรมหลายแห่ง รวมถึงบริษัทผู้ส่งออกอวนไปยังสหรัฐฯ อ้างอิงจากเอกสารที่รวบรวมได้ภายใต้กฏหมาย พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร

อดีตนักโทษหลายคนให้สัมภาษณ์กับมูลนิธิธอมสัน รอยเตอร์ว่า เจ้าหน้าที่เรือนจำใช้วิธีข่มขู่ว่าจะทำร้ายด้วยกระบอง ไม่ให้อาบน้ำ หรือชะลอการปล่อยตัวพวกเขาออกไปหากเขาทำงานไม่สำเร็จตามเป้าหมาย

พวกเขายังบอกด้วยว่าได้รับค่าจ้างเพียงแค่เศษเสี้ยวของอัตราค่าแรงขั้นต่ำของไทย และมีนักโทษหลายคนที่ไม่ได้รับค่าแรงเลย

มูลนิธิธอมสัน รอยเตอร์ ระบุว่า นักโทษส่วนใหญ่ที่เปิดเผยเรื่องนี้ต่างบอกว่าพวกตนได้ค่าจ้างเฉลี่ยราว 30 บาทต่อเดือน

ทางด้านกรมราชทัณฑ์ของไทยมิได้ตอบรับคำขอให้แสดงความเห็นในวันที่รายงานชิ้นนี้ตีพิมพ์เผยแพร่

ประเทศไทยมีจำนวนนักโทษในเรือนจำมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยจำนวนราว 282,000 คน จากเรือนจำ 143 แห่ง โดยส่วนใหญ่ต้องขังจากคดีเกี่ยวกับยาเสพติด

รายงานของสหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (International Federation for Human Rights - FIDH) ระบุว่า เรือนจำส่วนใหญ่ในไทยมีนักโทษล้นเกิน และไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล

โครงการฝึกอบรมวิชาชีพของกรมราชทัณฑ์

เอกสารประชาสัมพันธ์ของกรมราชทัณฑ์ ระบุว่า โครงการฝึกอบรมวิชาชีพมีขึ้นเพื่อฝึกทักษะให้บรรดานักโทษสามารถหางานทำเมื่อได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ แต่องค์กรสิทธิมนุษยชน รวมทั้ง FIDH กล่าวว่า โครงดังกล่าวเอารัดเอาเปรียบนักโทษ ให้ค่าแรงต่ำ สภาพการทำงานย่ำแย่ และใช้การลงโทษเมื่อนักโทษทำงานไม่ได้ตามเป้า

งานดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นงานใช้แรงงาน ตั้งแต่งานพับถุงกระดาษ การตัดเย็บเสื้อผ้า รวมทั้งการผลิตอวนจับปลา ซึ่งอดีตนักโทษกล่าวว่าเป็นงานหนัก และเสี่ยงต่อการบาดเจ็บจากการถูกเส้นใยบาด

ประวิทย์ ร้อยแก้ว อัยการและรองอธิบดีสำนักงานคดีค้ามนุษย์ สำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า "นักโทษเหล่านี้ทำงานโดยไม่สมัครใจ และไม่สามารถปฏิเสธการทำงานได้เนื่องจากถูกข่มขู่ว่าจะลงโทษหรือถูกทำร้าย" และว่า การกระทำเช่นนี้อาจเข้าข่ายละเมิดกฏหมายป้องกันและปราบกรามการค้ามนุษย์ของไทย หากเป็นการกระทำเพื่อผลประโยชน์ของบริษัทเอกชน ซึ่งจำเป็นต้องมีการสืบสวนเพิ่มเติม

สัญญาการผลิตอวน

มูลนิธิธอมสัน รอยเตอร์ ได้ส่งคำขอไปยังเรือนจำ 142 แห่งเพื่อขอให้เปิดเผยรายละเอียดสัญญากับบริษัทต่าง ๆ ในการผลิตอวน ในจำนวนนี้มี 54 แห่งที่ยินยอมเปิดเผย และ 30 แห่งที่เปิดเผยสัญญาในการผลิตสินค้าประเภทอื่น ขณะที่เรือนจำที่เหลือมิได้ตอบรับ หรือระบุว่าไม่มีการใช้แรงงานนักโทษในเรือนจำ

ทั้งนี้ รายชื่อบุคคลหรือนิติบุคคลในสัญญาว่าจ้างผลิตอวน ตามที่มูลนิธิธอมสัน รอยเตอร์ รวบรวมมาได้นั้น รวมถึงบริษัทขอนแก่นแหอวน (Khon Kaen Fishing Net Factory - KKF) ผู้ผลิตอวนรายใหญ่ที่สุดของไทย ซึ่งส่งออกอวนไปยังสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้วน้ำหนัก 2,364 ตัน รวมมูลค่า 12 ล้านดอลลาร์ อ้างอิงจากรายงานของ Maia Research

ทางบริษัท KKF ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นในเรื่องนี้เมื่อมูลนิธิรอยเตอร์ติดต่อไป

ทางด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ มีคำแถลงแสดงความกังวลต่อข้อกล่าวหาเรื่องเรือนจำในประเทศไทยใช้แรงงานนักโทษในการผลิตอวนจับปลาให้แก่บริษัทเอกชน พร้อมระบุว่า กฏหมาย Tariff Act ของสหรัฐฯ ได้ห้ามการนำเข้าสินค้าที่ผลิตจากนักโทษหรือแรงงานที่ถูกบังคับ

หลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้แรงกดดันให้จัดการกับปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานในอุตสาหกรรมการประมงมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงการค้ามนุษย์ บังคับใช้แรงงาน และความรุนแรงบนเรือประมงและโรงงานแปรรูปอาหารทะเล

อย่างไรก็ตาม ไทยได้ปรับปรุงประวัติด้านการค้าทาสสมัยใหม่ให้ดีขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ และในรายงานประจำปีฉบับล่าสุด สหรัฐฯ ระบุว่าไทยได้ใช้ความพยายามอย่างมากในการกำจัดปัญหาการค้ามนุษย์ รงมถึงเพิ่มการทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม แม้ว่าปัญหาการคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐได้บ่อนทำลายความพยายามดังกล่าว

ฝึกทักษะแรงงาน หรือละเมิดสิทธิมนุษยชน?

อดีตนักโทษทุกคนที่ให้สัมภาษณ์ในรายงานชิ้นนี้ไม่มีใครที่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการผลิตอวนจับปลาหลังจากที่ออกจากเรือนจำ

ปภพ เสียมหาญ ทนายความผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิแรงงาน กล่าวว่า การบังคับให้นักโทษผลิตสินค้าให้แก่บริษัทเอกชนนั้นอาจเข้าข่ายละเมิดกฏหมายการค้ามนุษย์ของไทย ซึ่งห้ามการบังคับใช้แรงงาน

ทางด้าน แอนเดรีย จอร์เจ็ตตา ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของสหพันธ์เพื่อมนุษยชนสากล (International Federation for Human Rights) เรียกร้องให้รัฐบาลไทยตรวจสอบข้อกล่าวหานี้

อย่างไรก็ตาม องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) กล่าวว่า จากการตรวจสอบยังไม่พบว่าการกระทำของเรือนจำของไทยละเมิดภาระผูกพันของประเทศภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการบังคับใช้แรงงาน ซึ่งระบุว่า การทำงานในเรือนจำไม่ถือว่าเป็นการบังคับใช้แรงงาน หากอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่รัฐ และไม่มีบริษัทเอกชนรายใดทำหน้าที่ควบคุมจัดการนักโทษเหล่านั้น

XS
SM
MD
LG