ลิ้งค์เชื่อมต่อ

กระแสงานศิลปะบนโลกออนไลน์ “NFT” แรงถึงประเทศไทย


An NFT artwork by @tonrer, a Thai artist.
An NFT artwork by @tonrer, a Thai artist.
NFT ART Trend Thailand
please wait

No media source currently available

0:00 0:05:41 0:00
Direct link

ผลงานศิลปะออนไลน์ในรูปแบบ NFT หรือ (non-fungible token) ที่ใช้เทคโนโลยี “บล็อคเชน” ยืนยันเอกลักษณ์ กำลังได้รับความนิยมมากอย่างต่อเนื่องจากศิลปิน นักสะสมและผู้คนชื่นชอบสกุลเงินดิจิตัลจำนวนมากทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย วีโอเออธิบาย NFT ในฉบับเข้าใจง่าย พร้อมเปิดมุมมองศิลปินไทยที่ใช้ NFT สะท้อนเอกลักษณ์ของยักษ์ไทย รวมทั้งการเปิดประมูลงานเหล่านี้เพื่อช่วยชาวพม่าที่ประสบความยากลำบากหลังรัฐประหาร

ศิลปินหลายคนในประเทศไทยได้หันมาสร้างผลงานแบบ NFT (non-fungible token) บนโลกออนไลน์มากขึ้น งานศิลป์ในรูปแบบนี้มีความไม่ธรรมดาเพราะจัดเป็นสินทรัพย์ดิจิตัลที่มีการใช้เงินสกุลคริปโตเป็นเครื่องยืนยันความเป็นเอกลักษณ์และสืบต้นตอได้ว่าใครได้ถือสิทธ์ครองงานที่แท้จริง

ราคาของงานประเภทนี้ยังได้สร้างเสียงฮือฮามาแล้ว เช่นงานศิลปะที่มีชื่อว่า “Everydays: The First 5000 Days” ของศิลปินดิจิตัลที่เป็นที่รู้จักในนามแฝงว่า “Beeple” ที่ขายไปในราคา 69 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2,300 ล้านบาท) เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

ณัฏฐพัชร์ เชื้อสุวรรณ เป็นนักออกแบบกราฟิกที่หันมาสนใจสร้างงานแบบ NFT ได้ประมาณ 7 เดือนซึ่งงาน 140 ชิ้นของเขาที่สะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นไทยสามารถสร้างเม็ดเงินได้ถึง 1.5 ล้านบาทเลยทีเดียว

“ย้อนกลับไปช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาครับ ผมรับออกแบบเสื้อ พอโควิดมารอบนี้รายได้หายไปเลย 80% เลยหาช่องทางอื่นในการสร้างรายได้...NFT มันไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นรูปวาดหรือกราฟิก พวกมีม วิดีโอคลิป รูปถ่ายก็ทำได้อยู่ที่ว่าเราจะนำเสนออะไรให้กลายเป็น NFT ผมเป็นคนที่ชอบลายไทยเป็นทุนเดิม เลยมองว่าเศียรกับหัวโขนช่วยให้ผมเล่าเรื่องที่ผมต้องการลงไปในตัวงานได้”

ศิลปินวัย 27 ปีผู้นี้แนะนำให้คนที่ต้องการสร้างงานศิลปะ NFT คำนึงถึงปัจจัยหลายๆอย่าง โดยเฉพาะราคาของผลงานที่จะผันผวนตามอัตราการแลกเปลี่ยนของสกุลเงินดิจิตัล

“ตอนนี้คนเห็นว่า NFT สามารถขายได้เงินมูลค่าสูงได้มากๆ คนอาจจะมองว่ามันง่าย มองว่าเข้ามาปุ๊บ ขายแล้วได้เงินเป็นหมื่น เป็นแสน เป็นล้าน แต่การเดินทางของ NFT มันมีหลายขั้นตอนที่เราต้องเรียนรู้ครับ การทำคอลเล็กชั่นมันยากมากครับ...ต้องศึกษาด้วยว่าคริปโตคืออะไร เช่น วันนี้ขายได้ 0.1 ETH อาจจะเป็น 1 หมื่นบาทแต่พรุ่งนี้มันอาจจะกลายเป็น 9 พันก็ได้ คุณจะรู้สึกยังไงกับมัน?”

Thai NFT artist, Natthaput 'Tonrer' Chuasuwan, photoshopped himself to sit alongside his Thai-influenced NFT art.
Thai NFT artist, Natthaput 'Tonrer' Chuasuwan, photoshopped himself to sit alongside his Thai-influenced NFT art.

สำหรับศิลปินบางคนเช่น Headache Stencil ที่มีชื่อเสียงจากการสร้างงานเสียดสีทางการเมืองไทยบนกำแพงตามท้องถนนมาเกือบ 7 ปีจนได้รับการขนานนามว่า Bangkok Banksy ก็ได้หันมาทำ NFT เช่นกัน

โดยเขาได้สร้างคอลเล็กชั่นเล็กๆขึ้นมาเพื่อช่วยหาเงินไปสมทบผู้ประสบภัยในพม่าผ่านรัฐบาลเงาที่มีชื่อว่า National Unity Government of Myanmar หรือ NUG ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของนักการเมืองฝ่ายพลเรือนที่พยายามต่อสู้กับรัฐบาลชุดปัจจุบันที่จัดตั้งขึ้นมาจากการปฏิวัติในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

“ปัญหาในไทยก็ไม่ใช่ว่าไม่มีนะ แต่พอมองไปทางเค้า เค้าดูโดดเดี่ยวมากกว่าเรา เค้ามีทางเลือกในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพน้อยกว่าเรา ก็พยายามหาทางติดต่อให้ถึงกับ NUG ผมไม่ได้เสียอะไรเลยและสิ่งที่ทำคือการช่วยเพื่อนมนุษย์ ทำขึ้นมาทั้งหมด 3 ชิ้น เคยคิดว่างานที่เราพ่นลงบนกำแพงแล้วมันมี movement ก็น่าจะเวิรค์เหมือนกันนะ ผมเอาธีมนั้นมาใช้กับเซ็ทที่ทำงานให้พม่า ก็จะมีชิ้นนี้ชิ้นนึง คนนี้เป็นนางงามพม่าครับที่เป็นประเด็น สุดท้ายนางงามพม่าจะยืนถือป้ายอยู่กลางกองเพลิง”

Thai artist who goes by "Headache Stencil" sits in his studio in Bangkok, Thailand, for an interview with VOA Thai.
Thai artist who goes by "Headache Stencil" sits in his studio in Bangkok, Thailand, for an interview with VOA Thai.

นอกจาก NFT แล้ว Headache Stencil ยังมีกำหนดการเดินสายแสดงผลงานในธีม Asian Hate Time ในหลายมุมโลกรวมถึงที่สหรัฐฯในอนาคต โดยเขาจะพ่นสีเป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาในประเทศพม่าร่วมกับศิลปินในนครนิวยอร์กเพื่อสร้างความรู้ในสังคม และจะทำควบคู่กับการจัดแสดงงานที่สะท้อนถึงประเด็นต่างๆที่กระทบชนเชื้อสายเอเชียในนิทรรศการด้วย

”Asian Hate Time พูดถึงทุกปัญหาที่คนเอเชียเจอ ไม่ว่าจะปัญหาโลก ปัญหา politics ปัญหา Asian hate crimesในทางฝั่งยุโรปหรือทั่วโลก ผมเลยรวมทั้งหมดมาเป็นคอนเซ็ปต์ว่า Asian Hate Time มันเป็นช่วงเวลาที่คนเกลียดชังคนเอเชียเหลือเกิน ด้วยชื่องานอาจจะดู dark แต่เวลาคุณเข้าไปในงาน คุณจะเจอการยัดเหยียดความ positive ของผม งานของผมไม่ได้ต่อว่าใครให้เกิดความเกลียดชัง ผมไปสร้างประเด็นอะไรให้ฉุกคิดให้แง่ positive”

ส่วนเรื่องของทิศทางการเติบโตของ NFT Art ในประเทศไทยในอนาคต อ.ดร.ให้แสง ชวนะลิขิกร ผู้สนใจ NFT และอาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้บอกผ่านมุมมองส่วนตัวว่าศิลปะสไตล์ใหม่นี้จะมีการพัฒนาต่อไปเรื่อยๆและจะมีแนวโน้มการเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม นักสะสม

บางคนอาจจะยังไม่หันมาสนใจงานประเภท NFT มากนักในตอนนี้

“พี่ซื้องานศิลปะมาเพราะพี่ชอบ แต่ NFT อันนี้คือส่วนตัวเลย ยังไม่รู้ว่าซื้อไปแล้วจะเอาไปทำอะไร... บางคนเขาอาจจะชอบสัมผัสมากกว่า มันรู้สึกว่าได้ครอบครอง แต่ที่มันเป็นดิจิตัล มันอาจจะมีการสูญหายหรือแฮ็กได้...นักสะสมก็มีหลายรุ่น หลายวัย อาจจะรู้สึกว่าซื้อไปแล้วจะเป็นยังไงต่อ ที่เราเสียเงินไปนี่คือหนึ่งเดียวจริงใช่ไหม เพราะมีข่าวมาเยอะแยะว่าหลายๆแพลตฟอร์มยังไม่ได้มีการสกรีนซะทีเดียวว่าอันนี้เป็นงานของเจ้าของจริงๆ”

แต่ อ.ดร.ให้แสง ทิ้งท้ายกับวีโอเอด้วยว่างานศิลป์แบบ NFT Art ก็มีแง่ดีหลายด้านเช่นกัน เพราะสามารถเปิดโอกาสให้ศิลปินหน้าใหม่แสดงผลงานได้โดยที่ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายและงานประเภทนี้ยังไม่ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงบาอย่างที่งานศิลป์แบบกระดาษต้องเจอ ไม่ว่าจะเป็นน้ำ รา หรือ ไฟ อีกด้วย

(เรื่องโดย จณิน ภักดีธรรม)

XS
SM
MD
LG