ลิ้งค์เชื่อมต่อ

คุยกับ 'แชมป์ เอ็นซมิงเกอร์' ผู้กำกับ "ยายนิล" สารคดีคว้ารางวัล เชื่อมสัมพันธ์ยาย-หลาน


Champ Ensminger (right) worked with his grandmother, Ninlawan Pinyo (left), in Yai Nin, Ensminger's short documentary.
Champ Ensminger (right) worked with his grandmother, Ninlawan Pinyo (left), in Yai Nin, Ensminger's short documentary.
Yai Nin Documentary Part 1
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:54 0:00


การรักษาสายสัมพันธ์ของสมาชิกครอบครัวข้ามรุ่น เป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของชีวิตครอบครัวสมัยใหม่ โดยเฉพาะเมื่อมีระยะทางที่ห่างไกลอย่างประเทศไทยและสหรัฐฯ เข้ามาเป็นตัวแปร แชมป์ เอ็นซมิงเกอร์ (Champ Ensminger) ชายหนุ่มเชื้อสายไทยในอเมริกา เลือกใช้การเล่าเรื่องเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเขากับคุณยาย ผ่านสารคดีขนาดสั้น ที่ไปคว้ารางวัลมาจากเทศกาลภาพยนตร์ในอเมริกา

นิลวรรณ ภิญโญ เป็นเจ้าของกิจการแหนมและหมูยอ “ภิญโญ” ผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่รู้จักในจังหวัดเชียงใหม่

แต่สำหรับผู้ชมในสหรัฐฯ หลายคนได้ทำความรู้จักกับ นิลวรรณ เป็นครั้งแรกผ่านสารคดีขนาดสั้นเรื่อง “ยายนิล” (Yai Nin) ที่ไปคว้ารางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์ในปีที่ผ่านมา ผลงานของ แชมป์ เอ็นซมิงเกอร์ (Champ Ensminger) หลานชายชาวอเมริกันเชื้อสายไทยของยายนิล ที่อาศัยอยู่ในเมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน

"ผมคิดมาตลอดว่า แนวของสารคดีเรื่องนี้จะไม่ใช่ชีวประวัติขนาดยาวของผู้หญิงคนหนึ่ง แต่จะเป็นส่วนเสี้ยวหนึ่งของชีวิต คล้าย ๆ กับวันหนึ่งในชีวิตของคุณยาย ซึ่งได้มาจากประสบการณ์ของผม...และสิ่งต่าง ๆ ที่ผมเก็บตกจากการสังเกตเวลาผมใช้เวลากับคุณยาย ไม่ว่าจะเป็นตอนที่ผมยังเป็นเด็ก หรือตอนที่ผมใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทยช่วงปี พ.ศ.2557-2558" แชมป์กล่าวกับวีโอเอไทยผ่านการสัมภาษณ์ทางวีดีโอ

Champ Ensminger directed his grandmother, Ninlawan Pinyo, in a short documentary, Yai Nin, which was filmed in Chiang Mai, Thailand.
Champ Ensminger directed his grandmother, Ninlawan Pinyo, in a short documentary, Yai Nin, which was filmed in Chiang Mai, Thailand.

“ยายนิล” เป็นสารคดีขนาดสั้นเรื่องแรกของแชมป์ ซึ่งเรียนจบด้านการศึกษาภาพยนตร์และมานุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยวอชิงตันในซีแอตเทิล (University of Washington in Seattle) และมีประสบการณ์ทำงานในแวดวงการผลิตเนื้อหา (content production)ให้กับแบรนด์ต่าง ๆ ในสหรัฐฯ เป็นเวลาหลายปี

"คุณยายผมไม่ใช่คนเงียบ ๆ ขี้อาย แต่เป็นคนที่ทำให้เราเห็นเลยว่ายายเป็นนักธุรกิจหญิงที่เข้มแข็ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผมประทับใจและรู้สึกดีที่ได้เห็น ผมมีเพื่อนบางคนที่มาบอกผมเลยว่า คุณยายเป็นคนที่น่าทึ่งมากนะ นายควรจะทำเรื่องเกี่ยวกับคุณยายซักเรื่อง เรียกได้ว่าเป็นแรงสนับสนุนและกำลังใจในตอนแรก ๆ หลายคนได้เห็นมาดของคุณยายของผม ผู้หญิงไทยตัวเล็ก ๆ ที่ใส่ชุดทำงานไม่ซ้ำกันในแต่ละวัน"

ชายหนุ่มเชื้อสายไทยวัย 32 ปีเกิดที่จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนจะย้ายไปอยู่ที่เมืองสโปแคน (Spokane) รัฐวอชิงตันเมื่อเขามีอายุได้เพียง 2 ปี เขาเล่าว่า ในช่วงเวลาที่เขาไปอาศัยอยู่กับยายที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อหลายปีก่อน เขาได้ใช้เวลากับยายมากขึ้น และได้เห็นยายในแง่มุมและบทบาทอื่น ๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เช่น การเป็นนักธุรกิจหญิงในวัย 85 ปี ที่ต้องดูแลกิจการด้วยตัวเองหลังจากที่คุณตาเสียชีวิตไป บางครั้งเป็นเหมือน “แม่” ของคนงาน ในขณะที่ลูกหลานแท้ ๆ ส่วนใหญ่อยู่ไกลถึงอเมริกา

สารคดีเรื่อง "ยายนิล" ใช้เวลาถ่ายทำในเชียงใหม่จริง ๆ เพียงแค่ 3 วัน แต่กระบวนการคิด วางแผน ตัดต่อ และงานหลังการถ่ายทำ หรือ post-production อื่น ๆ ใช้เวลารวมแล้วประมาณสองปีครึ่ง

"เราใช้เวลาพูดคุยกับคุณยายก่อนการสัมภาษณ์จริง เพื่อให้คุณยายรู้สึกสบายใจและสะดวกใจที่จะให้สัมภาษณ์หน้ากล้อง...โชคดีที่ยายเป็นคนที่ชอบเข้าสังคม ยายเลยรับมือกับความโกลาหลของการถ่ายทำและกองถ่ายที่เต็มไปด้วยคนแปลกหน้าได้เป็นอย่างดี"

การถ่ายทำสารคดีเรื่องนี้ ยังทำให้แชมป์ได้รู้ด้วยว่า ยายนิลเคยเป็นนักพากษ์เสียงละครวิทยุที่เชียงใหม่ สมัยยังเป็นสาว ๆ อีกด้วย

ในการถ่ายทำ แชมป์ยังได้คุณแม่มาช่วยทำหน้าที่เป็นคนถามคำถาม และสื่อสารระหว่างยายและหลาน เพราะข้อจำกัดด้านภาษาของตัวเอง ซึ่งเขามองว่าแม่ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมข้ามรุ่นระหว่างเขาและยายได้เป็นอย่างดี

Champ Ensminger (lower right) directed and produced Yai Nin, a short documentary about his grandmother, Ninlawan Pinyo, the matriarch of the family.
Champ Ensminger (lower right) directed and produced Yai Nin, a short documentary about his grandmother, Ninlawan Pinyo, the matriarch of the family.

ส่วนหนึ่งของสารคดีเรื่องนี้ ยังพูดถึงความท้าทายของครอบครัวไทยในสองทวีป

ครอบครัวของแชมป์ไม่ต่างจากครอบครัวผู้อพยพคนไทยในอเมริกา ที่ปู่ย่าตายายมักจะมาเยี่ยม หรือมาช่วยเลี้ยงหลานเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน แต่ด้วยวัยที่มากขึ้นของคุณยาย การเดินทางระหว่างเชียงใหม่ - ซีแอตเทิล จึงไม่สะดวกเหมือนก่อน ต้องหันไปอาศัยเทคโนโลยี เช่นการส่งข้อความผ่านแอพลิเคชันไลน์ และการวีดีโอคอล ทดแทน ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างยายและหลานก็เริ่มห่างเหินไป

ในตอนหนึ่งของสารคดีความยาว 13 นาที มีฉากที่นิลวรรณ ภิญโญ นั่งดูรูปหลาน ๆ ในอเมริกาที่เธอเคยไปช่วยเลี้ยงดู

"ลูกหลาน ใหญ่กันหมดแล้ว เป็นหนุ่มเป็นสาวเรียนจบ ทำงานทำการก็ดีใจตวยนะ นึกถึงเขา เลี้ยงเขาเมื่อน้อย ๆ เขาเกิดอเมริกาหมดละอ่อนหมู่นี้ (เลี้ยงเขาเมื่อยังเด็ก ๆ เขาเกิดที่อเมริกากันหมดเด็กพวกนี้) การที่จะปิ๊กมาอยู่เมืองไทยท่าจะยาก ละอ่อนเกิดฮั่นนอะ (การจะกลับมาอยู่เมืองไทยคงยาก เด็กเกิดที่โน่น) ความเจริญของเขา เขาเป็นคนปู้นหมดละ (เขาเป็นคนที่โน่นหมดละ) แต่ก็มีเกิ่งไทย (แต่ก็มีครึ่งไทย) ที่ดูกิริยามารยาท ดูฮู้ว่าเป็นคนไทยแท้ ไม่กระโดกกระดาก แม่ชอบ" นิลวรรณกล่าวเป็นภาษาเหนือ

Ninlawan Pinyo, a native of Chiang Mai, Thailand, used to travel to visit with her grandchildren in the U.S.
Ninlawan Pinyo, a native of Chiang Mai, Thailand, used to travel to visit with her grandchildren in the U.S.

การทำสารคดีเรื่องนี้ ยังช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างแชมป์และคุณยาย

"ผมว่ามันเป็นเครื่องเตือนใจด้วยว่าเราเป็นคนไทย ในมุมมองของคุณยาย และเตือนให้เราเห็นความสำคัญของคุณยาย ในฐานะแม่ไก่ของครอบครัวและของกิจการ เป็นคนที่คอยชื่นชมความสำเร็จและความเป็นไปของเราคนไทยในอเมริกาอยู่ห่าง ๆ"

สารคดี “ยายนิล” ออกฉายตามเทศกาลภาพยนตร์ในหลายเมืองทั่วสหรัฐฯ ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยคว้ารางวัลสารคดีสั้นยอดเยี่ยมในเทศกาล Seattle Asian American Film Festival และ DC Asian Pacific American Festival ก่อนที่จะเปิดให้คนดูทั่วไปสามารถชมผ่านทางเว็บไซต์ yainindoc.com ตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

XS
SM
MD
LG