ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ชีวิต LGBTQ+ คนไทยในสหรัฐฯ กับเส้นทางชีวิตที่หลากหลาย 


Thai members of LGBTQ+ community living in the U.S.
Thai members of LGBTQ+ community living in the U.S.

เนื่องในเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ Pride Month ในเดือนมิถุนายนนี้ วีโอเอไทยได้พูดคุยกับสี่คนไทยที่นิยามตนเองว่าเป็นสมาชิกของชุมชนชาว LGBTQ+ ถึงเส้นทางการใช้ชีวิตของพวกเขาตั้งแต่จากที่ไทยจนถึงสหรัฐฯ ความแตกต่างในการใช้ชีวิตในทั้งสองประเทศ รวมถึงแผนการของพวกเขาในอนาคต

“เรามาจากครอบครัวคนจีน มีเรื่องการกีดกัน (ความหลากหลายทางเพศ) อยู่แล้ว ครอบครัวมองว่าถ้าอยู่กับผู้ชายแล้วจะเอาสมบัติไปให้ผู้ชายเหรอ แต่พอมาอยู่สหรัฐฯ มันมีความแตกต่าง เขาเปิดรับ กฎหมายมีส่วนสำคัญมากต่อมุมมองของคนในสังคม” สันต์ทศน์ กาญธีรานนท์ เจ้าของช่องยูทูบ Rakoonda Channel ที่เน้นให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันเอดส์ในกลุ่มชายรักชาย กล่าวกับวีโอเอไทย

สันต์ทศน์ ผันตัวจากผู้ช่วยนักวิจัยสังคมศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเป็นอาชีพของเขาที่ไทย มาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำแนะนำด้านวีซ่าทางสื่อสังคมออนไลน์ควบคู่ไปกับการเป็นนักเรียนหลังจากที่เขาย้ายมาอยู่ที่สหรัฐฯ เมื่อปีค.ศ. 2015 เพื่อมาดูแลแม่ชาวไทยที่ย้ายมาอยู่สหรัฐฯ ก่อนหน้านั้น

เกย์ไทยในรัฐแมริแลนด์ ผู้เรียกตนเองว่า “เจ๊เต็ก” นี้ ทำช่องยูทูบที่นอกจากจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับโรคเอดส์แล้ว ยังมีเรื่องเกี่ยวกับจิตวิทยาการใช้ชีวิตคู่ การปรับตัวในชีวิตคู่ระหว่างเกย์ชาวไทยกับเกย์ชาวอเมริกัน ที่เขากล่าวว่า มีแรงบันดาลใจอยากเผยแพร่เนื้อหาที่ช่วยให้ลดช่องว่างทางวัฒนธรรมของกลุ่มชายรักชายต่างชาติต่างภาษา ซึ่งเป็นงานสนับสนุนเชิงสังคมที่เขาทำได้เท่าที่สถานะผู้อพยพของเขาในสหรัฐฯ จะเอื้ออำนวยในขณะนี้

Santot Kanteeranon, a Thai gay advocate in AIDS awareness in Maryland (left) with his fiancé Craig (second from left)
Santot Kanteeranon, a Thai gay advocate in AIDS awareness in Maryland (left) with his fiancé Craig (second from left)


สันต์ทศน์ตั้งเป้าไว้ว่า หากต่อไปเขาได้รับสถานะผู้พำนักถาวรในสหรัฐฯ เขาต้องการผลักดันเชิงนโยบายให้คนที่ไทยเห็นตัวอย่างของการเข้าถึงสิทธิของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศในต่างประเทศ รวมถึงค่านิยมและการปฏิบัติต่อกลุ่มคนนี้ในสังคม

“เวลาอยู่ที่ไทย บางเรื่องเราทำกันจนเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ยกตัวอย่างเช่น การใช้คำที่ไทยบางครั้งมันก็มีการแบ่งแยกชนชั้น อย่างเรื่องเพศ เราไม่สามารถนับใครเป็นเพศที่สามได้ ในขณะที่คนไทยกลับมีคำว่าเพศที่สาม”

“เราคงกลับไปเที่ยวที่ไทยนะ แต่คงไม่กลับไปอยู่ยาว สังคมที่นี่ดีกับเรา เรารู้สึกว่าที่นี่ปลอดภัย เราไม่รู้สึกว่าเราจะโดนดูถูกหรือตีตรา ทำให้เรารู้สึกว่านี่คือบ้านของเรา” สันต์ทศน์กล่าว “ที่นี่เราทำอะไรได้มากกว่าตอนที่เราอยู่ไทย ตอนอยู่ไทย ตะโกนยังไงคนก็ไม่ได้ยิน ตอนนี้แม้แต่กระซิบคนก็ยอมรับ”

แม้ช่องยูทูบของ “เจ๊เต็ก” จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับโรคเอดส์ การใช้ถุงยางอนามัย การให้ความรู้เรื่องการมีเพศสัมพันธ์ แต่ตัวของเขาเองก็ระบุว่า “เป็นคนไหว้พระสวดมนต์ถือศีลห้า ตั้งใจจะไม่หลับนอนกับแฟนจนกว่าจะแต่งงาน” พร้อมเสริมว่า อีกสิ่งที่เขาได้รับจากการเผยแพร่ความรู้เรื่องโรคเอดส์และชีวิตของเกย์ก็คือ แม่ของเขาเองที่เปลี่ยนทัศนคติและเข้าใจมากขึ้นว่า กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศไม่ได้มาพร้อมกับเชื้อ HIV เสมอไป



“ถึงเราสองคนจะชอบประเทศไทย แต่ต่อไปเราคงย้ายกลับไปอยู่ที่สหรัฐฯ อีก เพราะกฎหมายและขีวิตบั้นปลายที่นั่นปลอดภัยกว่า”

ประภัสสร เดาวด์ วิศวกรหญิงไทยวัย 31 ปี เล่าให้วีโอไทยฟังถึงเมื่อครั้งที่เธอพูดคุยกับเลสเบี้ยนจากหลากหลายประเทศในเว็บไซต์หาคู่ต่างชาติ ซึ่งเป็นช่องทางที่ทำให้เธอได้พบกับ “เจสซาลีน” แฟนสาวชาวอเมริกัน จนได้ครองรักและแต่งงานอยู่ด้วยกัน โดยทั้งคู่เคยอาศัยอยู่ด้วยกันที่สหรัฐฯ นานเกือบสามปีก่อนที่ปัจจุบันจะอาศัยอยู่ที่ไทย

Praphatsorn Dowd,a 31-year-old Thai lesbian (right), with her American wife Jessalyn (left)
Praphatsorn Dowd,a 31-year-old Thai lesbian (right), with her American wife Jessalyn (left)

ประภัสสรเล่าว่า ก่อนหน้าที่จะใช้บริการเว็บไซต์หาคู่นี้ เธอเคยมีแฟนเป็นผู้หญิงคนไทยราว 2-3 คน ซึ่งเรื่องราวมักจบที่แต่งงานหรือออกหน้าทางสังคมไม่ได้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในชีวิตคู่สำหรับเธอ

“ในเว็บไซต์นั้น เราได้คุยกับ LGBT ที่เป็นคนเอเชีย เขาก็ยังครึ่งๆ กลางๆ แต่ถ้าคุยกับต่างชาติที่มาจากประเทศที่มีการยอมรับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เขาจะไม่มีคำถามในหัวเลย เขาจะปฏิบัติกับราเหมือนปกติ ถ้ามีความรู้สึกที่ดีต่อกันก็ยอมรับกันไป ไม่เหมือนคนเอเชีย”

“เรามองว่าวัฒนธรรมเอเชียเป็นปัจจัยหลักมากกว่า อย่างคนอเมริกัน คนยุโรป จะยึดติดน้อยกว่า เขาจะยึดตามความคิดของเขา แต่วัฒนธรรมคนเอเชียจะผูกพันกับสังคมมากกว่า เช่น จะนึกถึงว่าพ่อแม่พี่น้องของเราจะคิดอย่างไร ในขณะที่ฝรั่งเขาจะเป็นตัวของตัวเองมากกว่า”

ชีวิตคู่ของประภัสสรกับเจสซาลีนเรียกได้ว่าต้องเผชิญกับสภาวะที่ “กลืนไม่เข้าคายไม่ออก” มาหลายปี เพราะแม้ทั้งคู่จะมีความสุขกับการมีชีวิตที่ไทย เนื่องจากเจสซาลีนชอบความเป็นเอเชีย นับถือศาสนาพุทธ ในขณะที่ประภัสสรก็ต้องการอยู่กับครอบครัว แต่การที่ทั้งคู่จะสมรสถูกต้องตามกฎหมายและเริ่มเก็บเงินเพื่อเริ่มต้นชีวิตครอบครัว ทำให้ทั้งสองต้องใช้ชีวิตด้วยกันที่สหรัฐฯ เพื่อจัดการเรื่องต่างๆ ให้เข้าที่

“การที่เราได้กรีนการ์ด เราต้องยื่นเอกสาร มีหลักฐานการเงินเสียภาษี แต่เจสเขาไม่ได้ทำงานในบริษัท เขาทำงานออนไลน์ จะไม่มีหลักฐานเป็นใบเสร็จรับเงินเดือน เขามีฐานะทางการเงินและสังคมน้อยกว่าเรา ไม่ได้มีเงินฝากเยอะ ไม่ได้ยื่นภาษีสามปี เราก็ต้องฝ่าฟันและเสียเงินไปเยอะพอสมควร” ประภัสสรเล่าถึงขั้นตอนการขอกรีนการ์ดคู่สมรสของเธอ ซึ่งเป็นเหมือนใบเบิกทางให้เธอสามารถสมัครงานที่บริษัทในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งรายได้ที่เธอตั้งใจเก็บออมเพื่อสร้างชีวิตครอบครัว

ขณะนี้ ประภัสสรกับเจสซาลีนกลับมาที่ไทยอีกครั้งหลังใช้ชีวิตคู่ที่สหรัฐฯ เกือบสามปี ซึ่งแม้ไทยจะเป็นประเทศที่ทั้งสองมีความสุขกับการใช้ชีวิตที่สุดในขณะนี้ แต่การที่ประเทศไทยไม่รับรองสถานะสมรสของบุคคลเพศเดียวกัน ก็เป็นอุปสรรคทำให้เจสซาลีนไม่สามารถขอวีซ่าคู่สมรสเพื่อติดตามประภัสสรมาอยู่ที่ไทยได้ สุดท้ายเจสซาลีนจึงเข้าศึกษาระดับปริญญาตรีในไทย ซึ่งประภัสสรกล่าวว่า “เป็นทางออกเดียวเท่าที่สถานะของเราจะเอื้ออำนวย”

Praphatsorn Dowd (right), a 31-year-old Thai lesbian with her American wife Jessalyn (left)
Praphatsorn Dowd (right), a 31-year-old Thai lesbian with her American wife Jessalyn (left)

แม้ประภัสสรจะพอใจกับทางออกนี้ เพราะนอกจากจะทำให้เจสซาลีนได้ถือวีซ่านักเรียนแล้ว ยังทำให้ภรรยาของเธอได้ยกระดับวุฒิการศึกษาเพื่อใช้สมัครงานในไทยและขอวีซ่าทำงานในขั้นต่อไปได้ แต่เธอก็ยอมรับว่า ความซับซ้อนทางกฎหมายที่ต่างกันของทั้งสองประเทศนี้ “เป็นหลุมดำที่ทำให้ชีวิตคู่เราก้าวช้าไปห้าปี”

“การแต่งงานมีลูกเป็นความคาดหวังของเรา อันนี้แค่ต้องสร้างฐานะทางสังคมด้วยกัน เราก็ใช้เวลาสองปีแล้ว กว่าจะได้ใบอนุญาตทำงาน กว่าจะได้กรีนการ์ด กว่าจะสมัครงาน เก็บเงิน พอกลับไทยก็ต้องมาเริ่มต้นใหม่หมดอีก เราก็ต้องเริ่มสมัครงานใหม่ที่ไทย คิดว่ากว่าจะมีลูกด้วยกันได้ก็คงต้องใช้เวลาอีก 3-4 ปี”

ประภัสสรยอมรับว่า แม้ทั้งเธอและภรรยาจะชอบประเทศไทย แต่หากมองถึงชีวิตระยะยาวในฐานะคู่รักเลสเบี้ยนแล้ว พวกเธอคงกลับไปที่สหรัฐฯ อีกครั้งเมื่อสถานะทางการเงินดีขึ้น “เพราะกฎหมายและชีวิตบั้นปลายที่นั่นปลอดภัยกว่า”

“เวลาอยู่ที่ไทย คนใกล้ตัวเราสนับสนุนเรามากก็จริง เขามองว่าเราเก่งกว่าคนทั่วไปที่ฝ่าฟันมาได้ แต่ในเชิงปฏิบัติ ที่ไทยด้อยกว่าสหรัฐฯ มาก ที่สหรัฐฯ ได้รับการยอมรับจนลืมไปเลยว่าเราเป็นคู่รักเพศเดียวกัน แต่ที่ไทยยังมีการหลีกเลี่ยงที่จะใช้คำพูด มีความแตกต่างทางสังคม ยิ่งทางกฎหมายนี่ยิ่งชัด เพราะไทยยังไม่มีกฎหมาย (รับรองการสมรสของคนเพศเดียวกัน) เลย”

“กฎหมายไทยยังมีช่องโหว่อีกเยอะ ถ้าพื้นฐานของสังคมไม่มีความเป็นประชาธิปไคย มองคนไม่เท่ากัน แล้วจะบริหารคนยังไง?”

โนอาห์ พงษ์พิมาย นักเคลื่อนไหวกิจกรรมทางการเมืองและเชฟไทยในนครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ผู้บอกว่า “ไม่ได้ซีเรียสว่าคนเองจะมีคำนิยามว่าเป็นอย่างไร เป็นบุคคลข้ามเพศก็ได้ ทอมก็ได้ เควียร์ก็ได้” กล่าวกับวีโอเอไทย

Noah Phongphimai, a Thai member of LGBTQ+ community, participates in Thai political protest held in San Francisco, California
Noah Phongphimai, a Thai member of LGBTQ+ community, participates in Thai political protest held in San Francisco, California

โนอาห์ใช้เวลาสี่ปีในการตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดร่างกายท่อนบน เพื่อทำให้ร่างกายของตนที่เป็นหญิงโดยกำเนิดมีความเป็นชายขึ้น แต่ตัดสินใจไม่เข้ารับการแปลงเพศโดยสมบูรณ์เพราะกังวลถึงผลข้างเคียง


“เราอยากดูเป็นผู้ชายมากขึ้นก็จริง แต่บางวันเราก็มีอารมณ์อยาก ‘ดัดจริต’ ก็มี อยากจะเมาธ์ ความรู้สึกแบบเพื่อนสาว ซึ่งเราทำแบบนั้นกับเพื่อนผู้ชายไม่ได้” โนอาห์อธิบายถึงเหตุผลที่เขารู้สึกสบายใจที่จะไม่ตีกรอบจำกัดเพศวิถีของตนเอง และเปิดรับหากใครจะใช้สรรพนามใดกับเขาก็ตาม

“ที่สหรัฐฯ เขาจะถามเราว่าให้เรียกเราว่า he หรือ they” เชฟไทยผู้นี้กล่าว “ที่ไทยก็ไม่ได้แย่ แต่เขาจะไม่รู้ว่าจะปฏิบัติกับเราอย่างไรให้ถูกจริตเรา”

โนอาห์ย้ายมาอยู่ที่สหรัฐฯ เมื่อราวสิบปีที่แล้ว โดยมีเหตุผลหลักคือ “อกหัก” และมีครอบครัวที่สหรัฐฯ ซึ่งเขาบอกว่า เขามีความสุขมากกับชีวิตปัจจุบันในสหรัฐฯ กับแฟนสาวที่คบหาดูใจกัน

“ตอนอยู่ที่ไทยเหนื่อยมาก เป็นชีวิตที่ต้องพิสูจน์ตัวเองตลอดเวลา ตั้งแต่ออดิชันเป็นนักร้อง มันมีแต่คำว่าเกือบ ส่วนที่สหรัฐฯ เราพยายามแค่พยายามหาเงิน แต่ไม่ต้องพยายามเป็นใครซักคนในสังคม” โนอาห์กล่าว พร้อมเสริมว่า คงไม่คิดกลับไปตั้งรากฐานที่ไทยอีกครั้ง และพอใจกับสวัสดิการและรายได้ในสหรัฐฯ ในปัจจุบัน

“ประเทศที่เสรี ทุกอย่างมันก็เสรีสมชื่อจริงๆ เราได้รับการปฏิบัติอย่างมีเกียรติ ศักดิ์ศรี มากกว่าที่ไทยในเรื่องของการยอมรับให้เกียรติ ที่นี่มีพื้นฐานเดียวกันก็คือ เขามองว่าทุกคนเป็นมนุษย์”



“การที่เราเป็น ‘นาย’ตามกฎหมายไทยมันทำให้เรามีปัญหาในการดำเนินการต่างๆ แต่พอเปลี่ยนเป็น ‘นางสาว’ ตามกฎหมายสหรัฐฯ แล้ว ปัญหานี้ก็หายไป”

เมธาสิทธิ์ เอี่ยมทอง นักเรียน นักบำบัด และบริกรข้ามเพศวัย 24 ปี ในเมืองเคที รัฐเท็กซัส บอกกับวีโอเอไทยว่า การได้เปลี่ยนคำนำหน้าชื่อจากนายเป็นนางสาวบนเอกสารระบุอัตลักษณ์ทุกอย่างของสหรัฐฯ สำคัญกับเธอมากในทุกๆ ด้าน “มันรู้สึกดีกับตัวเอง ใช้ชีวิตเป็นตัวเองได้ระดับหนึ่ง ไม่ต้องกังวลว่าคนจะมอง”

เมธาสิทธิ์ หรือ “พีช” ยกตัวอย่างว่า เมื่อก่อนที่เธอถือหนังสือเดินทางไทย ซึ่งระบุคำนำหน้าว่าเป็นนาย เธอจะถูกด่านตรวจคนเข้าเมืองหยุดบ่อยมากแทบทุกครั้ง เพราะภาพกับคำนำหน้าในเอกสารดังกล่าวระบุว่าเธอคือผู้ชาย ซึ่งปัญหาดังกล่าวหายไปเมื่อเธอสามารถเปลี่ยนคำนำหน้าในหนังสือเดินทางสหรัฐฯ ของเธอได้

Methasit Iamtong, a Thai trans woman living in Katy, Texas
Methasit Iamtong, a Thai trans woman living in Katy, Texas

หญิงไทยข้ามเพศผู้นี้เล่าให้ฟังถึงขั้นตอนการขอเปลี่ยนคำนำหน้าในสหรัฐฯ ว่า ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศก่อน โดยในกรณีของเธอนั้น เธอได้ขอใบรับรองจากเพศว่ามี “ความทุกข์ใจในเพศสภาพ” (gender dysphoria) แล้วนำเรื่องไปยื่นให้ศาลรับรอง จากนั้นนำคำรับรองจากศาลไปยื่นต่อ Department of Motor Vehicles ซึ่งเทียบเท่ากับกรมการขนส่งทางบก โดยหน่วยงานดังกล่าวในสหรัฐฯ จะรับผิดชอบเรื่องการออกเอกสารระบุอัตลักษณ์ทางราชการของประชาชนด้วย

แม้ว่า “พีช” จะย้ายมาอยู่ที่สหรัฐฯ หลังจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เมื่อปีค.ศ. 2014 ตามคุณแม่เพื่อให้ได้เรียนรู้ภาษาและได้รับการศึกษาที่ดี โดยไม่ได้มีปัจจัยที่เธอเป็นบุคคลข้ามเพศเป็นหลัก แต่เมื่อได้อยู่อาศัยในสหรัฐฯ แล้ว เธอก็มองเห็นความแตกต่างระหว่างการอยู่ในสหรัฐฯ และอยู่ในไทย “ถ้าตอนนี้ยังอยู่ในไทย หนูคงอาจยังไม่ได้เป็นผู้หญิงข้ามเพศเลยด้วยซ้ำ” เธอกล่าว

เมธาสิทธิ์เรียนและทำงานหลากหลายมาโดยตลอดช่วงระยะเวลาที่อยู่ที่สหรัฐฯ โดยงานของเธอส่วนใหญ่เป็นงานบริการ โดยเธอระบุว่า การเป็นหญิงข้ามเพศของเธอไม่เคยเป็นอุปสรรคในการทำงานเลย โดยนายจ้างมักดูที่หน้างานมากกว่าว่าเธอมีคุณสมบัติอะไร ทำงานอะไรได้บ้าง และได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นปกติจากเพื่อนร่วมงาน “พวกเขามีมารยาทพอที่จะไม่ถามเลยด้วยซ้้ำ”

อย่างไรก็ตาม เธอยอมรับว่า เธอเผชิญการถูกเหยียดแบบไม่รู้ตัว หรือ microaggression บ้าง เช่น การแสดงสีหน้า กิริยา จากกลุ่มคนที่อาจไม่ยอมรับบุคคลที่หลากหลายทางเพศ เช่น กลุ่มเคร่งศาสนาจัด แต่ยังไม่เคยเผชิญกับการถูกทำร้ายร่างกาย อย่างไรก็ตาม เธอก็ยืนยันว่าเป็นส่วนน้อยมากที่เผชิญ “ชีวิตเราโอเค 98 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเราเจออะไรแบบนี้ 1-2 เปอร์เซ็นต์ ก็คงต้องปล่อยเขาไป”


รายงานโดย วรรษมน อุจจรินทร์ VOA Thai

XS
SM
MD
LG