เมื่อเดือนที่แล้ว มีข่าวแพร่สะพัดในอินโดนีเซียว่าแกนนำกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง Islamic Defenders Front หรือ FPI ถูกทำร้ายโดยกองทัพรัฐบาล และต้องเข้ารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล
ข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอม และแม้เมื่อประชาชนทราบความเป็นจริงแล้ว แต่ยังมีคนจำนวนนับพันที่เชื่อว่านาย Habib Rezieq ถูกทำร้ายจริง เพราะมีคนเผยแพร่เรื่องนี้อย่างกว้างขวางก่อนการชุมนุมประท้วงผู้ว่าการกรุงจาการ์ต้า ซึ่งเป็นผู้มีเชื้อสายจีน และถูกกล่าวหาว่าไม่เคารพศาสนาอิสลาม
เจ้าหน้าที่อินโดนีเซียแกะรอยที่มาของข่าวปลอมนี้ และพบว่าข้อมูลนี้มีต้นตออยู่ที่รัฐนิวเจอร์ซี่ของสหรัฐฯ และยังพบใน server ที่ประเทศออสเตรเลียอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ไม่ได้ปักใจว่าข่าวปลอมนี้เป็นฝีมือของขบวนการต่างประเทศที่ต้องการสร้างความวุ่นวายในอินโดนีเซีย
ทั้งนี้การเผยแพร่ข่าวปลอมไม่ใช่เรื่องใหม่ในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีประชากรจำนวนมากที่เกาะติดการสื่อสารบนโซเชี่ยลมีเดียอย่างใกล้ชิด โดยเมื่อสองปีก่อนข่าวปลอมก็เคยสร้างความวุ่นวายสับสนในการเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย
กรณีตัวอย่างที่เห็นในช่วงที่ผ่านมาชี้ว่า รัฐบาลอินโดนีเซียซึ่งเคยถูกวิจารณ์ว่าแทรกแซงสื่อ ไม่สามารถสกัดข่าวปลอมด้วยวิธีปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์
Damar Juniarto ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Digital Democracy Forum กล่าวว่า ข่าวปลอมเรื่องการทำร้ายนาย Rezieq มีเนื้อหาวกไปวนมา และถูกเผยแพร่เป็นโฆษณาล่อให้คนกดคลิ้กเข้าไปในเว็บไซต์ jutipoker.biz ซึ่งเป็นเว็บไซต์พนัน ซึ่งเขากล่าวว่าทางการได้สั่งปิด jutipoker.biz ไปเรียบร้อยแล้ว
ในกรณีที่เจ้าหน้าที่พบว่าต้นตอข่าวปลอมนี้มาจาก servers ในสหรัฐฯ และออสเตรเลีย Damar Juniarto กล่าวว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่เว็บไซต์พนันใช้ IP Address ในต่างประเทศเพื่อปกปิดตัวตนที่แท้จริงของผู้อยู่เบื้องหลังกิจการนี้ ซึ่งผิดกฎหมายในอินโดนีเซีย
หลังจากที่การเผยแพร่ข่าวปลอมบนสื่อสังคมออนไลน์กลายเป็นประเด็นร้อนที่สหรัฐฯ ในปีนี้ที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี บริษัทเทคโนโลยี เช่น เฟสบุ้ค ได้ประกาศในสัปดาห์นี้ว่าจะสร้างระบบที่สามารถป้องกันข่าวปลอมให้ดีขึ้น เช่นการทำให้ผู้ใช้ทั่วไปแจ้งรายงานข่าวปลอมที่เกิดขึ้น ได้อย่างง่ายและรวดเร็วขึ้น
นอกจากนั้นเฟสบุ้คจะทำให้ระบบสามารถเข้าไปสกัดแรงจูงใจด้านรายได้จากผู้ปล่อยข้อมูล spam ด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้สันทัดกรณี Damar Juniarto จากกลุ่ม Digital Democracy Forum กล่าวว่า ควรมองเรื่องข่าวปลอมในบริบททางสังคมมากกว่าด้านเทคโนโลยี เพราะวิธีนี้จะช่วยทำให้เข้าใจได้ดีขึ้นว่า เหตุใดคนจึงเชื่อข้อมูลเท็จมากกว่ารายงานของสำนักข่าวที่เป็นที่รู้จักมานาน?
(รายงานโดย Krithika Varagur / เรียบเรียงโดย รัตพล อ่อนสนิท)