Kim Lacapria ผู้จัดการฝ่ายข้อมูลของเว็บไซต์ Snopes.com ซึ่งติดตามดูการให้ข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิดได้ทางเว็บ ให้คำจำกัดความของคำว่า “ข่าวปลอม” ว่าเป็นข่าวในเว็บไซต์ที่ไม่มีความจริงเลย
ในขณะเดียวกัน ลักษณะของ “ข่าวปลอม” ที่แพร่สะพัดอยู่ตามเว็บไซต์ในขณะนี้ นอกจากจะเป็นข่าวที่ไม่มีมูลความจริงแล้ว ยังอาจรวมข่าวที่มีมูลความจริงเล็กน้อย ส่วนที่เหลือถูกบิดเบือน หรือแสดงอคติของผู้เขียนข่าวก็ได้
“ข่าวปลอม” ซึ่งกำลังเป็นที่พูดถึงมากในสหรัฐขณะนี้ ทำให้เกิดการแสดงความคิดเห็นกันอย่างมากในหมู่นักข่าว นักวิชาการ และผู้ที่ใช้สื่อสังคมโดยทั่วไป
ในขณะเดียวกัน ก็สร้างความกดดันให้แก่นาย Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้ง Facebook ด้วย เพราะปรากฏว่า “ข่าวปลอม” เกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อต้นเดือนนี้ มีผู้คนเข้าไปอ่านและแสดงความคิดเห็นในช่วงสามเดือนสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้ง มากกว่าข่าวพาดหัวของสำนักข่าวใหญ่ 29 แห่งด้วยกัน
Mark Zuckerberg ถึงกับต้องออกมากล่าวว่า กำลังปรับปรุงวิธีกลั่นกรองข้อมูลที่ไม่ถูกต้องออกจาก Facebook
อย่างไรก็ตาม ประเด็นหนึ่งที่ทุกฝ่ายยอมรับก็คือ “ข่าวปลอม” หรือข่าวที่ทำให้เข้าใจผิดได้ หรือที่มีความจริงบางส่วน เมื่อมีสื่อกลางยอดนิยมช่วยกระพือให้อย่างรวดเร็วทันใจ เช่น Facebook และ Twitter แล้ว ทำให้เกิดความสับสนและการหลอกลวงได้ในหมู่ผู้คน
ศาสตราจารย์ Michael Lynch ซึ่งสอนวิชาปรัชญาอยู่ที่มหาวิทยาลัยคอนเนกติกัต บอกว่า เป็นการกัดกร่อนทำลายความเป็นประชาธิปไตย
“ข่าวปลอม” ชิ้นหนึ่งที่ Kim Lacapria ของ Snopes.com ยกมาเป็นตัวอย่าง คือคำเล่าลือที่แพร่อยู่ในโลกดิจิทัลว่า "นาง Hillary Clinton ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในนามของพรรคเดโมแครต เคยถูกไล่ออกจากคณะกรรมการสืบสวนกรณีวอเตอร์เกต ในสมัยคริสต์ทศวรรษ 1970 เพราะพูดปด"
Kim Lacapria ของ Snopes.com บอกว่าได้ตรวจสอบแล้ว และลงความเห็นว่าเรื่องที่เล่าลือดังกล่าวไม่เป็นความจริงเลย
อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปีนี้ เป็นครั้งแรกที่สื่อสังคมมีบทบาทเป็นอย่างมาก และ Kim Lacapria ของ Snopes.com ให้ความเห็นว่า ที่มีคนหยิบยกเรื่องข่าวปลอมมาเป็นประเด็น ก็เพราะไม่พอใจที่นาย Donald Trump เป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง
ขณะเดียวกัน Alexios Mantzarlis หัวหน้าเครือข่ายการตรวจสอบข้อเท็จจริงระหว่างประเทศของสถาบัน Poynter บอกว่า เรื่องนักการเมืองบิดเบือนข้อเท็จจริงไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ และยืนยันว่า ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าการตรวจสอบข้อเท็จจริงสามารถเปลี่ยนใจผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้
เขากล่าวส่งท้ายว่า เป็นภาระของผู้ใช้ข่าว เช่นผู้เขียนพาดหัวข่าว ที่จะไม่กล่าวย้ำคำกล่าวอ้างที่ไม่มีพื้นฐานเป็นความจริง
ส่วนอาจารย์ Michael Lynch ของมหาวิทยาลัยคอนเนกติกัต ชี้ว่าข้อมูลในเว็บไซต์ส่วนใหญ่มีคนเขียนขึ้นมา เพราะฉะนั้นจึงเห็นว่า ผู้เขียนควรแสดงความรับผิดชอบในสิ่งที่เชื่อ ในสิ่งที่แชร์ และในสิ่งที่ทวีต