มีนักรบจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปร่วมรบกับกลุ่มรัฐอิสลาม (IS) ในซีเรียและอิรักหลายร้อยคน และนักวิเคราะห์การรักษาความมั่นคงกล่าวว่า กำลังมีความเชื่อมโยงเพิ่มมากขึ้นทุกทีระหว่างกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มนี้กับกลุ่มฝักใฝ่ความรุนแรงในภูมิภาคนี้ ซึ่งควรได้รับความสนใจมากขึ้นจากรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง
เฉพาะปีนี้ นักต่อสู้ที่ได้รับความบันดาลใจจากกลุ่ม IS ได้ดำเนินการโจมตีในกรุงจาการ์ต้า และสถานีตำรวจที่เกาะชวาในอินโดนีเซีย และอีกหลายแห่งในภาคใต้ของฟิลิปปินส์แล้ว
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ยอมรับว่าจำนวนผู้สนับสนุนกลุ่ม IS ที่เดินทางจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปร่วมรบกับ IS ในซีเรียและอิรัก มีจำนวนไม่มากนัก คือราวๆ 800 คนจากอินโดนีเซียและมาเลเชีย อีกประมาณ 100 คนจากออสเตรเลีย และอีกไม่กี่คนจากสิงคโปร์และฟิลิปปินส์
บริเวณที่มีความห่วงใยกันโดยเฉพาะ คือทะเล Sulu ซึ่งประชิดกับตอนใต้ของฟิลิปปินส์ รัฐ Sabah ของมาเลเชีย และเกาะ Sulawesi ของอินโดนีเซีย
ขณะเดียวกัน ทางการออสเตรเลียกล่าวว่า ผลของการสืบสวนเมื่อไม่นานมานี้ของออสเตรเลีย พบหลักฐานว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่ม IS กับกลุ่มกบฏชาวมุสลิมในภาคใต้ของประเทศไทย
การก่อความไม่สงบในภาคใต้ของประเทศไทยซึ่งกลับมาเริ่มต้นอีกในปี ค.ศ. 2004 ได้ทำให้ให้มีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่าหกพันราย แต่เท่าที่ผ่านมา นักรบเหล่านั้นมุ่งเน้นไปในเรื่องสิทธิ์การปกครองตนเอง หรือการตั้งรัฐอิสระ โดยไม่มีความมุ่งหวังที่กว้างไกลกว่านั้น
นอกจากนี้ ทางการตำรวจไทยได้ปฏิเสธมาตลอดว่า ไม่มีหลักฐานชี้ว่ากลุ่มกบฏมีความเชื่อมโยงกับ IS
รายงานของทางการออสเตรเลียอ้างเหตุผลว่า มีชาวไทยสนับสนุนกลุ่ม IS ทางการเงินมากขึ้น รวมทั้งมีผู้ใช้ Faccebook ในประเทศไทยมากกว่าหนึ่งแสนราย ที่เข้าไปที่เว็บไซต์ของกลุ่มผู้ฝักใฝ่ความรุนแรงเหล่านี้
ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวกรองบอกกับผู้สื่อข่าวของ VOA ว่า มีการเชื่อมโยงดังกล่าว และมีภัยคุกคามในภูมิภาคที่ระบุได้ แต่ก็ดูเหมือนว่ารัฐบาลไทยจะตระหนักถึงภัยคุกคามที่ว่านี้
ส่วนศาสตราจารย์ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า แม้การเชื่อมโยงระหว่างกลุ่ม IS กับกลุ่มกบฏภาคใต้จะไม่ชัดเจน แต่ก็ควรติดตามเฝ้าดูอยู่ตลอดเวลา
นักวิชาการไทยผู้นี้บอกไว้ด้วยว่า ผลการศึกษาวิเคราะห์ระบุว่ามีผู้คนในภาคใต้ราวๆ 10% หรือน้อยกว่านั้น ที่เห็นด้วยกับอุดมการณ์ของ IS ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนไม่น้อย
ในขณะที่ Roger Shanahan นักวิเคราะห์ของสถาบัน Lowy ในออสเตรเลีย ให้ความเห็นว่า การทยอยกลับสู่บ้านและชุมชนของนักรบที่สนับสนุนอุดมการณ์ของ IS จากซีเรียและอิรัก อาจเป็นภัยคุกคามได้ เพราะแม้จะมีจำนวนไม่มาก แต่คนเหล่านี้มีทักษะที่จะถ่ายทอดได้ในเรื่องการปฏิบัติการ การรักษาความมั่นคง การสร้างระเบิด หรือการวางแผนปฏิบัติการ
นักวิเคราะห์ผู้นี้กล่าวส่งท้ายว่า ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ควรวิตกกังวล และว่ารัฐบาลในภูมิภาคควรเริ่มวางแผนรับมือกับการโจมตีที่อาจเกิดขึ้นได้