ชาวอินโดนีเซียผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 187 ล้านคนจะตัดสินใจเลือกประธานาธิบดีในวันพุธที่ 9 กรกฎาคมนี้ โดยจะเป็นการชิงชัยระหว่างผู้สมัครที่สำคัญสองคน คือนาย Joko Widodo ผู้ว่าการกรุงจาการ์ต้า หรือที่รู้จักในอีกชื่อว่า Jokowi ผู้มีชื่อเสียงในฐานะนักการเมืองมือสะอาด กับพลเอก Prabowo Subianto อดีตผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษซึ่งมีแนวนโยบายแบบชาตินิยม โดยในขณะนี้คะแนนนำที่นาย Jokowi เคยได้เหนือพลเอก Prabowo ในระดับกว่า 25 % ได้ลดลงเหลือเพียงแค่ตัวเลขหลักเดียว
พลเอก Prabowo Subianto ผู้นี้เคยถูกกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในติมอร์ตะวันออก สมัยที่เขาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษอยู่ รวมทั้งเรื่องการออกคำสั่งให้ลักพาตัวนักกิจกรรมสนับสนุนประชาธิปไตยเมื่อปี 2541 ด้วย และผู้ที่ไม่สนับสนุนเขาเกรงว่าหากพลเอก Prabowo ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี สิทธิและเสรีภาพทางการเมืองของประชาชนก็อาจถูกริดรอนลงได้
เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว นาย Robert O. Blake ทูตสหรัฐฯ ประจำอินโดนีเซียให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal ในสหรัฐฯ ว่าถึงแม้สหรัฐฯ จะไม่เข้าข้างฝ่ายใดในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ตาม แต่อินโดนีเซียก็ควรไต่สวนข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งคำพูดนี้ทำให้นาย Marty Natalegawa รัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซียถึงกับกล่าวว่า เป็นความพลาดพลั้งในเรื่องการตัดสินใจซึ่งยากที่จะยอมรับได้
อย่างไรก็ตาม อาจารย์ Aleksius Jemadu ผู้สอนรัฐศาสตร์ที่ Pelita Harapan University มองว่า สหรัฐฯ กำลังแสดงความสนับสนุนเป็นนัยต่อผู้นำคนใหม่ของอินโดนีเซียที่พร้อมจะร่วมมือกับนโยบายและผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ เพราะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าหากพลเอก Prabowo Subianto ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีเขาจะมีแนวทางแบบชาตินิยม และคงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่อินโดนีเซียจะร่วมมือกับสหรัฐฯ ในแนวนโยบายเกี่ยวกับจีนในปัจจุบัน
การเลือกตั้งประธานาธิบดีของอินโดนีเซียครั้งนี้เป็นจุดที่สำคัญ เพราะจะเป็นการส่งทอดอำนาจจากผู้นำซึ่งมาจากการเลือกตั้งให้กับประธานาธิบดีคนต่อไป โดยประธานาธิบดี Susilo Bambang Yudhoyono คนปัจจุบันได้ดำรงตำแหน่งมาครบสองสมัยๆ ละ 5 ปีแล้วและไม่มีสิทธิได้รับเลือกตั้งต่อเป็นสมัยที่สาม