ลิ้งค์เชื่อมต่อ

คณะกรรมการเลือกตั้งพม่าถูกกล่าวหาว่าไม่เป็นกลางต่อนางอองซาน ซูจี


บรรดากลุ่มพิทักษ์สิทธิ์ระดับนานาชาติเริ่มคลางแคลงใจต่อความเป็นกลางของคณะกรรมการเลือกตั้งแห่งพม่า หลังจากได้กล่าวหานางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านว่าได้กล่าวละเมิดต่อกฏหมายรัฐธรรมนูญระหว่างการปราศรัยหาเสียง พรรค National League for Democracy พรรคฝ่ายค้านของนางซูจีได้เร่งเร้าให้ประชาชนพม่าออกมาเรียกร้องการแก้ไขกฏหมายรัฐธรรมนูญ

ระหว่างการปราศรัยหาเสียงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา นางอองซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านพม่าใช้ภาษาการเมืองที่แข็งกร้าวมากขึ้นโดยแสดงความไม่เห็นด้วยต่อบทบาททางการเมืองของฝ่ายทหารและเรียกร้องให้มีแก้ไขกฏหมายรัฐธรรมนูญ

ข้อเรียกร้องประการหลักที่ผู้นำฝ่ายค้านเสนอ คือ การเปลี่ยนแปลงจำนวนที่นั่งในรัฐสภาที่เป็นโควต้าของตัวแทนจากฝ่ายทหาร กฏหมายรัฐธรรมนูญพม่าระบุว่าฝ่ายทหารได้ที่นั่งในรัฐสภาทั้งหมด 25 เปอร์เซ็นต์และข้อเสนอเปลี่ยนแปลงใดๆ ในกฏหมายรัฐธรรมนูญต้องได้รับความเห็นชอบจากเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาถึง 75 เปอร์เซ็นต์ซึ่งทำให้ตัวแทนฝ่ายทหารในรัฐสภาสามารถออกเสียงคัดค้านข้อเสนอการปรับเปลี่ยนกฏหมายรัฐธรรมนูญได้อย่างไม่มีอุปสรรค

นายญาณ วิน ทนายความและโฆษกแห่งพรรค N.L.D. พรรคฝ่ายค้านกล่าวว่าคณะกรรมการเลือกตั้งทำงานเกินอำนาจที่ตนเองมีและการกล่าวหานี้บิดเบือนเนื้อหาและใจความในคำกล่าวแสดงความคิดเห็นของนางอองซาน ซูจี

นายญาณ วิน โฆษกพรรคฝ่ายค้านพม่ากล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าทางพรรคต้องการให้มีการลดบทบาทของทหารในรัฐสภาลงและนี่เป็นจุดยืนของพรรคอยู่แล้ว แต่นางอองซานซูจีไม่ได้กล่าวเช่นนั้นในการปราศรัยหาเสียง

ในขณะที่นางซูจีออกปราศรัยแก่ประชาชนเพื่อรณรงค์ในข้อเรียกร้องของตน ประธานาธิบดี เต็ง เส่ง แห่งพม่าได้กล่าวต่อเรื่องนี้ว่าก่อนที่พม่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐบาลพม่าควรเสร็จสิ้นการเจรจาสันติภาพกับบรรดาชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ เสียก่อนและนำทุกฝ่ายมาลงนามในข้อตกลงยุติการสู้รบให้เรียบร้อย แต่ทางพรรค N.L.D. พรรคฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยกับประเด็นนี้

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา องค์การ Human Rights Watch กลุ่มพิทักษ์สิทธิ์นานาชาติที่มีสำนักงานใหญ่ที่มหานครนิวยอร์คได้ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้คณะกรรมการเลือกตั้งแห่งพม่าเลิกคุกคามนางซูจีและพรรคการเมืองของนางซูจี

คุณ Phil Robertson รองผู้อำนวยการประจำเอเชียแห่ง Human Rights Watch กล่าวว่าคณะกรรมการเลือกตั้งแห่งพม่าได้กล่าวหาว่านางซูจีละเมิดต่อกฏหมายการเลือกตั้งที่ยังไม่ได้ร่างขึ้น และข้อกล่าวหานี้แสดงให้เห็นความลำเอียงไปทางฝ่ายทหารของคณะกรรมาธิการการเลือกตั้งที่แสแสร้งว่าเป็นมีความเป็นเอกเทศและเป็นกลาง

คุณ Robertson รองผู้อำนวยการประจำเอเชียแห่ง Human Rights Watch กล่าวว่า มีรัฐบาลอีกหนึ่งชุดที่ควบคุมรัฐบาลพม่าอยู่และรัฐบาลที่ว่านั้นก็คือกองทัพพม่านั่นเอง เขากล่าวว่าเท่าที่ผ่านมา กองทัพพม่าไม่ดำเนินการใดใดเพื่อปฏิรูปตนเอง ไม่ยอมลดละอำนาจของตนที่ได้มาภายใต้กฏหมายรัฐธรรมนูญฉบับปีคริสตศักราช 2008 ที่ทำให้ทหารใช้อำนาจอย่างไม่มีขีดจำกัดในการแทรกแซงการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปีหน้าผ่านประธานคณะกรรมการเลือกตั้ง นายติน เอ ซึ่งเป็นอดีตทหารชั้นผู้ใหญ่

คุณ Robertsonแห่ง Human Rights Watch ยังกล่าวด้วยว่ากฏหมายรัฐธรรมนูญพม่าที่ร่างขึ้นในปีปีค.ศ. 2008 ร่างขึ้นโดยทหาร และ ถูกผลักดันให้ผ่านออกมาบังคับใช้ด้วยการทำประชามติที่บรรดาผู้สังเกตุการณ์ชี้ว่าเป็นการทำประชามติที่ไม่เที่ยงธรรม

นางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านยังมีกำหนดการออกปราศรัยหาเสียงต่อไปตลอดทั้งเดือนนี้ในจังหวัดต่างๆ ที่เป็นบ้านเกิดของชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆรวมทั้งเมืองชิตตเวเมืองหลวงแห่งรัฐยะไข่
XS
SM
MD
LG