รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของพม่ากำหนดให้มีผู้แทนคณะทหาร 1 ใน 4 ของรัฐสภา และยังให้อำนาจผู้แทนทหารเหล่านั้นในการวีโต้บทแก้ไขต่างๆในรัฐธรรมนูญ แต่เวลานี้รัฐสภาพม่ากำลังพิจารณาแนวทางถอดถอนอำนาจวีโต้ดังกล่าว ซึ่งผู้ติดตามการเมืองพม่าบอกว่าหากทำได้จริง จะถือเป็นก้าวสำคัญทางการเมืองของพม่า
พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือ NLD ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านของพม่าที่มีนางออง ซาน ซูจี เป็นผู้นำพรรค ได้เริ่มรวบรวมรายชื่อประชาชน 3 ล้านชื่อ เพื่อนำไปยื่นขอให้มีการทบทวนถอดถอนบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่าด้วยอำนาจวีโต้ของผู้แทนทหารในรัฐสภาพม่าหรือที่เรียกว่ามาตรา 436 นางออง ซาน ซูจี กล่าวกับประชาชนพม่าถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงมาตรา 436 ว่าทหารไม่ควรมีอำนาจวีโต้บทแก้ไขต่างๆในรัฐธรรมนูญ แต่อำนาจนั้นควรเป็นของผู้แทนที่ประชาชนเลือกเข้าไปนั่งในสภา
ตามมาตรา 436 การเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญใดๆ ต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้แทน 75% ในสภา ซึ่งคุณ Ko Ni ที่ปรึกษาด้านกฏหมายของพรรค NLD บอกว่าเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไขมาตรา 436 นี้ผ่านกระบวนการทางรัฐสภา เนื่องจากพรรค NLD มีที่นั่งเพียง 7% ทางพรรคจึงหวังว่าการรวบรวมรายชื่อ 3 ล้านชื่อนี้จะเป็นหนทางที่ช่วยให้เกิดการพิจารณามาตรา 436 ใหม่ ถึงกระนั้นก็ยังจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายทหารบางส่วนด้วย และว่าจริงๆแล้วเรื่องนี้แทบไม่มีทางเป็นไปได้ แต่หากมีแรงกดดันมหาศาลจากภาคประชาชน ฝ่ายทหารก็อาจจะยอมรับให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้
ที่ปรึกษาด้านกฏหมายของพรรค NLD ผู้นี้บอกด้วยว่า ขั้นตอนต่อจากนี้คือการร่างข้อเสนอการปรับแก้รัฐธรรมนูญส่งให้รัฐสภาพิจารณา ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายเดือนนี้ และหากบทแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาเกิน 75% ขั้นตอนสุดท้ายก็คือการลงประชามติทั่วประเทศ ซึ่งต้องได้รับเสียงสนับสนุนเกิน 51% จึงจะถือว่าเสร็จสมบูรณ์
ที่ผ่านมา รัฐบาลของประธานิบดี เต็ง เส่ง ถูกมองว่าเป็นรัฐบาลหุ่นเชิดของคณะทหารพม่า โดยผู้แทนทหารของพม่ามักอธิบายสาเหตุที่ทหารต้องมีส่วนในทางการเมืองด้วยการมีคณะตัวแทนนั่งอยู่ในรัฐสภา 25% และมีอำนาจการวีโต้นี้ว่า เป็นการป้องกันความวุ่นวายภายในประเทศ
ด้านศาสตราจารย์ David Law แห่งภาควิชานิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ University of Washington ชี้ว่าการปรับเปลี่ยนรัฐธรรมนูญผ่านช่องทางรัฐสภานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และแนะนำว่ายังมีแนวทางอื่นที่สามารถทำได้ เช่น การให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ หรือการลงประชามติ อย่างไรก็ดี ศาสตราจารย์ David Law ชี้ว่าการลดบทบาทหรืออำนาจของทหารเร็วเกินไปนั้น อาจก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี
ศาสตราจารย์ David Law ระบุว่าหากทหารไม่มีที่นั่งในรัฐสภา นั่นหมายความว่ามีความเสี่ยงที่รัฐสภาจะมีอำนาจทำอะไรก็ได้ตามที่ต้องการ ซึ่งในที่สุดแล้วอาจนำไปสู่รัฐประหารได้ ดังนั้นคำถามสำคัญก็คือ จะทำอย่างไรให้สามารถประคับประคองระบอบประชาธิปไตยต่อไป พร้อมกับการป้องกันไม่ให้ทหารมีอำนาจหรือมีความต้องการที่จะล้มล้างรัฐบาล
รายงานจาก Gabrielle Paluch - ห้องข่าว VOA / เรียบเรียงโดยทรงพจน์ สุภาผล