คำถามใหญ่ที่ประชาชนตั้งคำถามกับรัฐบาลทั่วโลก ที่เร่งเร้าให้มีการแจกจ่ายและฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง คือ ต้องให้วัคซีนกับประชาชนไปมากแค่ไหน จึงจะทำให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd immunity) ขึ้นมา เพื่อสกัดกั้นการระบาดของโคโรนาไวรัสครั้งนี้ได้?
ทำความเข้าใจเรื่องภูมิคุ้มกันหมู่
ภูมิคุ้มกันหมู่ คือ กลุ่มประชากรในสังคมจำนวนมาก ที่มีระดับภูมิคุ้มกันต่อโคโรนาไวรัส ไม่ว่าจะมาจากการหายจากการติดเชื้อ หรือจากการเข้ารับวัคซีนป้องกันโควิด-19
ภูมิคุ้มกันหมู่ ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจะได้รับการป้องกันจากการติดไวรัส แต่หมายถึง ระดับภูมิคุ้มกันในประชากรที่มากพอที่จะทำให้โคโรนาไวรัสไม่มีโอกาสที่จะแพร่ระบาดไปได้ง่ายอย่างที่เคยเป็น และช่วยปกป้องกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิดได้ในอนาคต
ปกติแล้วคนได้รับเชื้อโควิดเข้าไป หรือได้รับวัคซีนต้านโควิด ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานไวรัสนี้ขึ้นมาโดยธรรมชาติ และผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า จำนวนของประชากรที่จะต้องมีระดับภูมิคุ้มกันในร่างกายนั้น ต้องอยู่ที่ระดับ 70% ของประชากรหรือมากกว่านั้น เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม ไวรัสจะมีการเปลี่ยนแปลง พัฒนา และกลายพันธุ์อยู่เสมอตามธรรมชาติเช่นกัน ทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขแสดงความกังวลว่า โควิดกลายพันธุ์ชนิดที่พบในอังกฤษ แอฟริกาใต้ และบราซิล กำลังเป็นปัญหาใหม่ที่ตามมา
การคำนวณสัดส่วนประชากรที่ต้องได้รับภูมิคุ้มกันทำอย่างไร?
วอลเตอร์ โอเรนสไตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจาก Emory University บอกว่า ไม่มีตัวเลขที่ตายตัวสำหรับสัดส่วนประชากรที่ต้องมีภูมิคุ้มกัน ไม่มีคำว่า 64.9% คือระดับที่แย่ และ 70.1% เป็นระดับที่ยอดเยี่ยมอย่างที่คิดกัน ทั้งหมดนี้ขึ้นกับปัจจัยของแต่ละพื้นที่
เมื่อไหร่จะรู้ว่าเราถึงระดับภูมิคุ้มกันหมู่ที่เหมาะสมแล้ว?
ผู้เชี่ยวชาญ ยืนยันว่า เมื่อถึงเวลานั้นจะไม่มีเวลาออกมาตีฆ้องร้องป่าวอย่างแน่นอน แต่หลักฐานที่จะบ่งชี้ว่าเรามาไปถึงจุดนั้น คือ เมื่อระดับการติดเชื้อโควิดรายใหม่ลดลงอย่างมาก และผู้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลจากโควิด-19 น้อยลงไปมาก และตัวเลขนี้จะไม่เหมือนกันในแต่ละพื้นที่ของโลก
อย่างเช่น กรณีของอินเดีย นักวิทยาศาสตร์ เชื่อว่า ผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการป้องกันโควิด ควรเป็นผู้คนที่อาศัยหรือทำงานในเมืองใหญ่มากกว่าคนในพื้นที่ชนบท จากแนวคิดที่ว่าไวรัสระบาดได้ง่ายและรวดเร็วในพื้นที่ประชากรหนาแน่น ดังนั้น อินเดียจึงเร่งหาตัวเลขที่แท้จริงของผู้ที่หายจากโควิด-19 จากประชาชน 1,400 ล้านคนทั่วประเทศ และหากวัคซีนที่มีได้ผลกับไวรัสในแง่ของการสกัดกั้นการแพร่ระบาดได้ คนที่จะต้องเข้ารับวัคซีนโควิดก็จะน้อยลงไป เพื่อสร้างระดับภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศ
ไวรัสกลายพันธุ์ มีผลต่อการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่อย่างไร?
หากวัคซีนหรือระดับภูมิต้านทานของผู้ที่เคยรับวัคซีนหรือติดเชื้อโควิดมาก่อน สามารถป้องกับการติดเชื้อซ้ำได้ โควิดกลายพันธุ์แทบจะไม่เป็นเรื่องที่น่ากังวลแต่อย่างใด
แต่หากวัคซีนที่มีอยู่ในตอนนี้ มีประสิทธิผลน้อยลงในการรับมือโควิดกลายพันธุ์ ผู้ผลิตวัคซีนต้องเร่งพัฒนาตัวยาที่มีประสิทธิผลในการต้านโควิดมากขึ้น และต้องแจกจ่ายวัคซีนให้กับประชาชนมากขึ้นและรวดเร็วขึ้นตามไปด้วย เพื่อให้ทันก่อนที่ไวรัสกลายพันธุ์จะระบาดสู่คนในพื้นที่ได้มากขึ้น
จำเป็นหรือไม่ที่ต้อง “ภูมิคุ้มกันหมู่” ทั่วโลก?
จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ไปทั่วโลก แต่อาจมีบางส่วนของโลกที่ต้องรับมือกับโควิด-19 ยาวนานกว่าที่อื่นๆในโลกด้วยเช่นกัน
องค์การอนามัยโลก ฟันธงว่า ภูมิคุ้มกันหมู่ อาจไม่เกิดขึ้นทั่วโลกได้ทันในปี 2021 นี้ เพราะประเทศที่ร่ำรวยกักตุนวัคซีนที่จะผลิตได้ในปี 2021 ไปเกือบทั้งหมด และประเทศยากจนต้องรอคอยวัคซีนไปนานกว่าที่ควรจะเป็น
ผู้เชี่ยวชาญมองว่า การระบาดของโคโรนาไวรัสจะไม่สิ้นสุดลงไปทั้งหมดในเวลาเดียวกัน จากระดับการเข้ารับวัคซีนที่แตกต่างกันทั่วโลกนั่นเอง
ภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ มีสิทธิ์หมดไปได้หรือไม่?
ผู้เชี่ยวชาญต่างเชื่อว่า ภูมิต้านทานโคโรนาไวรัสชนิดแรกๆ หรือการรับวัคซีนโควิด จะให้ผลการป้องกันต่อเนื่องราว 2-3 เดือน แต่มีแนวโน้มว่าจะต้องผลักดันการรับวัคซีนเพิ่มเติมในอนาคต
คิดง่ายๆ ถึงคอนเซปต์ของการรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำปี ซึ่งไวรัสที่วิวัฒนาการอยู่ตลอดเวลา นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้คนควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำทุกปี แต่กรณีของโคโรนาไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงเช่นกันแต่ไม่ได้รวดเร็วเท่าไข้หวัดใหญ่ จึงมีความเป็นไปได้ว่าเราอาจไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนโควิดเป็นประจำทุกปีก็ได้
เป็นไปได้หรือไม่ ถ้าวัคซีนไม่สามารถป้องกันผู้คนจากการล้มป่วยด้วยโควิดได้?
ด้วยวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งจากไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทค (Pfizer-BioNTech) และโมเดอร์นา (Moderna) ยังมีประสิทธิผลในการต้านโควิดได้ดี และป้องกันผู้รับวัคซีนจากการเจ็บป่วยจากโควิดได้
ผู้เชี่ยวชาญยังเชื่อว่าวัคซีนอาจช่วยลดการแพร่ระบาดของไวรัสได้ แม้ยังไม่มีความชัดเจนว่า วัคซีนโควิดนี้จะสามารถหยุดยั้งการแพร่เชื้อโควิด-19 จากคนสู่คนได้