ขณะที่การผลิตวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ยังไม่สามารถทำได้เต็มตามความต้องการทั่วโลกและตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตก็ยังเพิ่มขึ้นตลอดเวลารวมทั้งยังมีปัญหาเรื่องเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ คำถามหนึ่งของวงการแพทย์ขณะนี้ก็คือ จะเป็นการดีกว่าหรือไม่ถ้าจะเร่งฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ผู้คนได้มากที่สุด หรือควรจะมุ่งสร้างภูมิต้านทานสูงสุดให้กับคนจำนวนน้อยกว่า
ผู้เชี่ยวชาญยังมีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องนี้ และวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีผลการทดลองน่าเชื่อถือส่วนใหญ่ในปัจจุบันต้องใช้การฉีดสองเข็มโดยเว้นระยะห่างราวสามถึงสี่สัปดาห์ และขณะที่กำลังการผลิตวัคซีนมีไม่พอเพื่อสนองความต้องการซ้ำยังมีภัยคุกคามจากเชื้อ โควิด-19 ที่กลายพันธุ์
เหตุผลหนึ่งสำหรับแนวคิดเรื่องการชะลอการฉีดวัคซีนเข็มที่สองและมุ่งเน้นที่การฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ผู้คนได้มากที่สุดก็คือการสร้างภูมิคุ้มกันในระดับหนึ่งให้ผู้คนจำนวนมากจะดีกว่าการละทิ้งคนบางกลุ่มไม่ให้มีภูมิคุ้มกันอะไรเลย
อย่างไรก็ตามเรื่องนี้อาจไม่มีคำตอบที่ง่าย เพราะคำถามสำคัญที่ยังมีอยู่ก็คือการฉีดวัคซีนเพียงเข็มเดียวจะสร้างภูมิคุ้มกันได้นานเท่าใดและวัคซีนเข็มแรกนั้นจะดีพอเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อกลายพันธุ์ได้หรือไม่ด้วย
เมื่อปลายปีที่แล้วขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว รัฐบาลอังกฤษตัดสินใจใช้วิธีเร่งฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ประชากรมากที่สุดและเลื่อนการฉีดวัคซีนเข็มที่สองออกไปเป็นราว 12 สัปดาห์หลังจากเข็มแรก ทั้งนี้เพื่อมุ่งลดตัวเลขการเสียชีวิต การเจ็บป่วยด้วยอาการหนัก และการต้องเข้าโรงพยาบาล โดยสมาคมการแพทย์ภูมิคุ้มกันของอังกฤษได้สนับสนุนการตัดสินใจดังกล่าวของรัฐบาลอังกฤษและให้เหตุผลว่าการชะลอวัคซีนเข็มที่สองออกไปราวแปดสัปดาห์นั้นจะไม่สร้างผลเสียอะไร
เมื่อวันจันทร์ ผลการศึกษาที่เผยแพร่โดยรัฐบาลอังกฤษดูจะช่วยยืนยันข้อดีของนโยบายที่ว่านี้ โดยข้อมูลที่ได้แสดงว่าวัคซีนของบริษัท Pfizer-BioNTech มีประสิทธิผล 72% เพื่อป้องกันการติดเชื้อหลังจากการฉีดเข็มแรกและสามารถลดความเสี่ยงของการต้องเข้าโรงพยาบาลและการเสียชีวิตลงได้ถึง 75% และสำหรับในกลุ่มคนอายุเกิน 80 ปีนั้นวัคซีนเข็มแรกก็ช่วยลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตลงได้กว่าครึ่งเลยทีเดียว ส่วนผลการศึกษาของอิสราเอลที่เผยแพร่เมื่อปลายสัปดาห์ก่อนก็ยืนยันผลที่คล้ายคลึงกันสำหรับวัคซีนของบริษัท Pfizer-BioNTech ด้วย
ถึงกระนั้นก็ตามคำถามที่ตามมาก็คือภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนเข็มแรกนั้นจะอยู่ได้นานเท่าใด และนายแพทย์แอนโทนี ฟาวชี่ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อของสหรัฐฯ ก็กล่าวเมื่อวันศุกร์สัปดาห์ที่แล้วว่าเรายังไม่ทราบคำตอบเรื่องนี้
แต่นักวิจัยบางคนก็เชื่อว่าภูมิคุ้มกันจากวัคซีนเข็มแรกจะไม่จางหายไปอย่างรวดเร็วแต่จะค่อยๆ ลดลงตามเวลาที่ผ่านไป โดยคุณดนูต้า สกาวรอนสกี ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาของศูนย์ควบคุมโรคบริทิชโคลัมเบียเชื่อว่าเรายังพอมีเวลาหลังจากที่ฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้วเพื่อป้องกันการติดเชื้ออย่างรุนแรงและสามารถรอการมาถึงของวัคซีนเข็มที่สองได้ และว่าวัคซีนเข็มที่สองไม่เพียงแต่จะช่วยยืดเวลาของการมีภูมิคุ้มกันออกไปเท่านั้นแต่ยังจะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้เข้มแข็งมากขึ้นด้วย
คำถามสำคัญข้อที่สามว่าควรเร่งฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ผู้คนมากที่สุดหรือเน้นฉีดวัคซีนสองเข็มเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งในกลุ่มคนจำนวนน้อยกว่านี้มาจากเรื่องที่ว่าขณะนี้มีเชื้อกลายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่และวัคซีนทุกชนิดก็ไม่มีประสิทธิผลเต็มที่กับเชื้อที่กลายพันธุ์ด้วย
ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญบางคนจึงกังวลว่าการไม่สามารถสร้างภูมิต้านทานที่แน่นหนาและแข็งแรงมากพอในหมู่ประชากรจะเปิดโอกาสให้เชื้อยิ่งกลายพันธุ์จนวัคซีนใช้ไม่ได้ผล อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญบางฝ่ายก็เชื่อว่าเชื้อจะมีโอกาสกลายพันธุ์ได้มากกว่าหากมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจนทำให้สามารถแพร่ระบาดในวงกว้าง และว่าการสร้างภูมิคุ้มกันในระดับหนึ่งแม้จะด้วยวัคซีนเพียงเข็มเดียวในหมู่ประชากรจำนวนมากจะเป็นวิธีที่ได้ผลมากกว่าเพื่อชะลอการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ในที่สุด